การเฝ้าระวังการแพร่กระจายของหนอนเจาะผล Cryptophlebia ombrodelta (Lower) ในลำไย
#1
การเฝ้าระวังการแพร่กระจายของหนอนเจาะผล Cryptophlebia ombrodelta (Lower) ในลำไย
บุษบง มนัสมั่นคง, ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา, พวงผกา อ่างมณี, สุนัดดา เชาวลิต, พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท และเกรียงไกร จำเริญ
กลุ่มบริหารศัตรูพืช และกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของหนอนเจาะผล Cryptophlebia ombrodelta (Lower) ในลำไย ดำเนินการสำรวจในแหล่งปลูกจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และจันทบุรี ในระยะที่ผลลำไยมีอายุประมาณ 5 เดือน ถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยสุ่มสำรวจแมลงในแปลงโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) คือ สุ่มตัดช่อผลลำไยต้นละ 4 ทิศ ๆ ละ 1 ช่อ จำนวน 10 ต้น/แปลง ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 – กันยายน 2553 ผลการสำรวจในแหล่งปลูกอำเภอพร้าว (3) จอมทอง (6) ดอยเต่า (2) ฮอด (2) สารภี (3) หางดง (2) สันป่าตอง (3) แม่วาง (2) และดอยหล่อ (2) จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านโฮ่ง (3) ป่าซาง (5) เมืองลำพูน (3) ลี้ (4) และเวียงหนองล่อง (3) จังหวัดลำพูน และอำเภอพาน (8) จังหวัดเชียงรายรวม 51 แปลง จากผลผลิตลำไยที่สุ่มในปี 2551 จำนวน 28,718 ผล น้ำหนัก 281.51 กิโลกรัม ในปี 2552 จำนวน 38,569 ผล น้ำหนัก 391.02 กิโลกรัม พบหนอนที่ลงทำลายผลลำไย 3 ชนิด คือ หนอนกินผล, Conogethes punctiferalis หนอนเจาะผล, Deudorix epijarbas หนอนเจาะขั้วผล, Conopomorpha sinensis ในปี 2553 ทำการสุ่มสำรวจในแหล่งปลูกอำเภอโป่งน้ำร้อน (32) และสอยดาว (18) จังหวัดจันทบุรี รวม 50 แปลง จากผลผลิตลำไยที่สุ่มจำนวน 32,339 ผล น้ำหนัก 290 กิโลกรัม พบหนอนที่ลงทำลายผลลำไย 2 ชนิด คือ หนอนกินผล, C. punctiferalis หนอนเจาะผล, D. epijarbas สรุปว่าจากผลการสำรวจเพื่อตรวจหาชนิดและการแพร่กระจายของของหนอนเจาะผล Cryptophlebia ombrodelta ในลำไยไม่ปรากฏพบว่ามีหนอนเจาะผล Cryptophlebia ombrodelta (Lower) เข้าทำลายผลลำไยในแหล่งปลูกใหญ่ของประเทศไทย


ไฟล์แนบ
.pdf   1681_2553.pdf (ขนาด: 343.17 KB / ดาวน์โหลด: 1,282)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม