11-18-2015, 04:04 PM
การพัฒนาเครื่องอบแห้งกาแฟกะลาโรบัสต้า
เวียง อากรชี, พิมล วุฒิสินธุ์, วิบูลย์ เทเพนทร์, นิทัศน์ ตั้งพินิจกุล, ปรีชา อานันท์รัตนกุล, ยงยุทธ คงซ่าน และสุภัทร หนูสวัสดิ์
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี และสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม
เวียง อากรชี, พิมล วุฒิสินธุ์, วิบูลย์ เทเพนทร์, นิทัศน์ ตั้งพินิจกุล, ปรีชา อานันท์รัตนกุล, ยงยุทธ คงซ่าน และสุภัทร หนูสวัสดิ์
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี และสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม
การออกแบบและพัฒนาเครื่องอบแห้งสำหรับกาแฟกะลาพันธุ์โรบัสต้า โดยนำเครื่องอบแห้งแบบโรตารีที่เคยมีการวิจัยมาแล้วแต่ยังมีจุดที่ต้องการแก้ไขและพัฒนาอีกหลายจุด ซึ่งเครื่องที่ปรับปรุงและพัฒนาประกอบด้วยส่วนสำคัญคือ 1)ถังอบลดความชื้นเมล็ดกาแฟ ได้ออกแบบไว้ 2 ขนาดความจุ คือ จุครั้งละ 400 และ 800 กิโลกรัม ลักษณะถังอบจากเดิมเป็นรูปทรงกระบอกกลม เปลี่ยนเป็นถังทรงกระบอกแปดเหลี่ยมมีท่อลมร้อนสำหรับเป่าอัดลมร้อนผ่านเมล็ดกาแฟอยู่ตรงกลางถัง ถ้ามองจากหน้าตัดถังจะเห็นเป็นรูปวงแหวนแปดเหลี่ยมด้านนอก เส้นผ่านศูนย์กลางถังอบ 1,000 และ 1,800 มิลลิเมตร ตามลำดับความจุ ความยาวถัง 1,200 มิลลิเมตร เท่ากันทั้งสองขนาด ซึ่งการออกแบบถังอบเป็นรูปทรงเหลี่ยมช่วยให้สามารถสร้างถังอบที่แข็งแรง มีช่องระบายความชื้นได้ดี มีการกระจายลมร้อนทั่วถึง ติดตั้งระบบขับเคลื่อนการหมุนถังอบได้แข็งแรงทนทานมากขึ้น มีห้องกักเก็บความร้อนเพื่อหมุนเวียนความร้อนกลับมาใช้บางส่วนในช่วงเมล็ดกาแฟความชื้นลดต่ำลงเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงความร้อนและที่สำคัญมีประสิทธิภาพในการอบแห้งดีขึ้น 2)ระบบขับเคลื่อนการหมุนถังอบ ใช้โซ่พันแน่นรอบถังมีเฟืองขับและเกียร์ทดความเร็วรอบ ถังหมุนที่ความเร็วประมาณ 2.5 รอบ/นาที 3)พัดลมเป่าอัดความร้อนเข้าถังเป็นชนิดใบพัดแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางใบโค้งหน้าหรือพัดลมหอยโข่ง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัด 457 มิลลิเมตร ความเร็วรอบใบพัดลม 973 รอบ/นาที 4)แหล่งกำเนิดความร้อน ออกแบบให้ใช้ได้ 2 แบบด้วยกัน คือ ชุดกำเนิดลมร้อนแบบหัวพ่นแก๊สหุงต้มพร้อมอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ และแบบชุดแลกเปลี่ยนความร้อนจากเตาเชื้อเพลิงชีวมวล หรือใช้ทั้งสองแบบร่วมกัน 5)อุปกรณ์ลำเลียงป้อนกาแฟเข้าถังเป็นกระพ้อขนาด 100 มิลลิเมตร และสายพานใต้ถังอบนำกาแฟออกจากถังเมื่ออบแห้งแล้ว ผลการทดสอบการอบแห้งกาแฟกะลา อุณหภูมิที่ใช้อบเริ่มต้น 100 องศาเซลเซียส และปรับลดลงตามอุณหภูมิเมล็ดที่สูงขึ้นโดยอุณหภูมิเมล็ดไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส ใช้เวลาอบแห้งแต่ละครั้งประมาณ 16-18 ชั่วโมง ที่ความชื้นเมล็ดกาแฟเริ่มต้น 55% ลดลงเหลือ 12% จากวิธีการอบแห้งแบบการเวียนลมร้อนบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ มีค่าประสิทธิภาพความร้อนประมาณ 80% การประยุกต์ใช้สามารถใช้อบแห้งพืชเมล็ดเกือบทุกชนิด เช่น กาแฟโรบัสต้า อาราบิก้าได้ทั้งแบบเปลือกสดหรือกะลา ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆ พริกไทย เป็นต้น เพียงเปลี่ยนตะแกรงช่องระบายความชื้นให้มีขนาดเหมาะสมกับขนาดเมล็ดพืชชนิดนั้นๆ