10-11-2022, 10:02 AM
การพัฒนาต้นแบบการผลิตขยายต้นพันธุ์ส้มโอขาวแตงกวาจังหวัดชัยนาทปลอดโรคกรีนนิ่ง
นิลุบล ทวีกุล, อรัญญา ภู่วิไล, วารีรัตน์ สมประทุม, วัชรา สุวรรณอาศน์, เครือวัลย์ บุญเงิน, วรากรณ์ เรือนแก้ว, อุกกฤษ ดวงแก้ว, วรปัญญ์ สอนสุข, แสนชัย คำหล้า, ไมตรี พรหมมินทร์ และก้องกษิต สุวรรณวิหค
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5, สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร
นิลุบล ทวีกุล, อรัญญา ภู่วิไล, วารีรัตน์ สมประทุม, วัชรา สุวรรณอาศน์, เครือวัลย์ บุญเงิน, วรากรณ์ เรือนแก้ว, อุกกฤษ ดวงแก้ว, วรปัญญ์ สอนสุข, แสนชัย คำหล้า, ไมตรี พรหมมินทร์ และก้องกษิต สุวรรณวิหค
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5, สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร
ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาเป็นพืชอัตลักษณ์และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดชัยนาท เนื่องจากมีคุณลักษณะพิเศษที่มีเนื้อแห้ง กรอบ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เปลือกหนา ทนทานต่อการขนส่งทางไกลเคยสร้างรายได้สูงถึง 94.70 ล้านบาท หลังจากนั้นรายได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 80 โดยมีสาเหตุหลักประการหนึ่งจากการระบาดของโรคและแมลงศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกรีนนิ่งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำและปริมาณลดลง ปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันถึงแม้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60 - 70 บาท และมีโอกาสขยายฐานการตลาดต่างประเทศ แต่ผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
โรคกรีนนิ่ง (Greening disease) ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้พืชกระกูลส้มอย่างรุนแรงทั่วโลกมีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Candidatus Liberibacter asiaticus (CLas) แพร่ระบาดโดยติดไปกับต้นพันธุ์และแมลงพาหะ ได้แก่ เพลี้ยไก่แจ้ส้ม เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคอาศัยอยู่ในเซลล์ท่ออาหาร (phloem cell) ไปแย่งและขัดขวางการลำเลียงอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ รวมถึงทำลายและยับยั้งการสร้างคลอโรฟิลล์ของใบ ต้นส้มจึงแสดงอาการทรุดโทรม ใบด่างเหลือง และอาการคล้ายกับอาการขาดธาตุอาหาร ผลส้มไม่พัฒนาเต็มที่และร่วงก่อนอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม (ไมตรีและคณะ, 2555) การจัดการโรคกรีนนิ่งอย่างยั่งยืน ได้แก่ การทำลายต้นส้มที่เป็นโรค การควบคุมแมลงพาหะนำโรค และการใช้พันธุ์ปลอดโรคในการสร้างสวนใหม่ (Lin, 1963 อ้างถึงใน Xia et. al., 2011) อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในจังหวัดชัยนาทยังคงใช้กิ่งตอนจากสวนของตนเองหรือของเพื่อนบ้านในการปลูกสร้างสวนส้มโอแปลงใหม่ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคนี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยส้มโอจาก182 สวนตรวจพบเชื้อสาเหตุโรคถึงร้อยละ 97 และส้มโอไม่ใช่แหล่งอาหารที่เพลี้ยไก้แจ้ชอบ ดังนั้นการใช้ต้นพันธุ์ปลอดโรคปลูกในการสร้างสวนใหม่ น่าจะช่วยลดปัญหาการแพร่กระจายของโรคได้ และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (สอพ.) กรมวิชาการเกษตร ได้ผลิตและเก็บรักษาแม่พันธุ์ส้มโอขาวแตงกวาปลอดโรคกรีนนิ่งไว้ในโรงเรือนกันแมลงของหน่วยงาน แต่เกษตรกรในส่วนภูมิภาคยากที่จะเข้าถึงแหล่งพันธุ์ดังกล่าว ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้พัฒนาต้นแบบการผลิตขยายพันธุ์ส้มโอขาวแตงกวาจังหวัดชัยนาทปลอดโรคกรีนนิ่ง ณ โรงเรือนปลูกพืชของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 (สวพ.5) เพื่อเป็นแหล่งขยายและกระจายพันธุ์ในพื้นที่และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการประเมินความเป็นไปได้ในการปลูกสร้างสวนใหม่ในแปลงเกษตรกรจังหวัดชัยนาทระหว่างปี 2561 - 2564