ผลสัมฤทธิ์การขยายผลเทคโนโลยีการเพาะเห็ดเศรษฐกิจโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
#1
ผลสัมฤทธิ์การขยายผลเทคโนโลยีการเพาะเห็ดเศรษฐกิจโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ศิริพร หัสสรังสี, ศิวพร แสงภัทรเนตร, พิรญาณ์ จันทร์เขียว, อดุลย์ มีสุข, พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, ฉัตรสุดา เชิงอักษร, สมพล นิลเวศน์, นฤนาท ชัยรังษี, สมเพชร พรมเมืองดี และจำรอง ดาวเรือง
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         
          การเพาะเห็ดเป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่มาก่อประโยชน์และสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ได้เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมการเกษตรนี้ จึงได้นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร มาทดสอบและพัฒนา สร้างศูนย์เรียนรู้ ภายในศูนย์ศึกษาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการขยายผลโดยการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรกรและผู้สนใจ ตั้งแต่ปี 2552 - 2559 โดยทำการทดสอบการเพาะเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดสมุนไพรชนิดต่างๆ ในพื้นที่ในปี 2552 - 2556 พบว่า เห็ดที่เพาะในพื้นที่ มีช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเพาะแตกต่างกันในรอบปี คือ เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู และเห็ดหลินจือ ช่วงเวลาเพาะที่เหมาะสมคือ เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เห็ดหอม ช่วงเพาะที่เหมาะสม คือ เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ เห็ดขอนขาว ช่วงเพาะที่เหมาะสม คือ เดือนมีนาคมถึงตุลาคม และเห็ดหัวลิง ช่วงเพาะที่เหมาะสม คือ เดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน วัสดุที่เหมาะสมในการเพาะคือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา และส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ยางพารากับไม้ฉำฉา การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏานมีกำไรสูงสุด คือ 15,000 - 43,000 บาทต่อรุ่นต่อโรงเรือน (ขนาดความจุ 2,000 ถุง) และได้ขยายผลการศึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการเป็นแหล่งศึกษาดูงานและให้การฝึกอบรมหลักสูตรการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ด าเนินการตั้งแต่ปี 2552 - 2559 มีผู้เข้าศึกษาดูงานทั้งสิ้น 2,387 คณะ รวม 138,047 ราย ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้น 301 รุ่น รวม 9,750 ราย การจัดทำโรงเรือนต้นแบบมีการเพาะเห็ด 8 ชนิด คือ เห็ดหอม เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนูเห็ดหลินจือและเห็ดหัวลิง การติดตามประเมินผลความสำเร็จของเกษตรกรตัวอย่างที่นำเทคโนโลยีการเพาะเห็ดจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริไปใช้ เกษตรกรทุกรายมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 30,000 - 120,000 บาท เป็น 100,000 - 609,000 บาท ทำให้มีการขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ยังได้ให้ความรู้และสนับสนุนการการตรวจรับรองแหล่งผลิตเห็ด GAP และอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตเห็ดในพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอีกด้วย


ไฟล์แนบ
.pdf   1_2562.pdf (ขนาด: 1.2 MB / ดาวน์โหลด: 2,173)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม