12-12-2018, 11:01 AM
เทคนิคการพ่นสารด้วยเครื่องพ่นหมอกในการป้องกันกำจัดบั่วกล้วยไม้
พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, นลินา ไชยสิงห์, สุภางคนา ถิรวุธ, สิริกัญญา ขุนวิเศษ และสุชาดา สุพรศิลป์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, นลินา ไชยสิงห์, สุภางคนา ถิรวุธ, สิริกัญญา ขุนวิเศษ และสุชาดา สุพรศิลป์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ศึกษาเทคนิคการพ่นสารด้วยเครื่องพ่นหมอก (Cold fogger) ในการป้องกันกำจัดบั่วกล้วยไม้ ดำเนินการที่แปลงกล้วยไม้สกุลหวายของเกษตรกร ในจังหวัดนครปฐม ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนกันยายน 2560 เพื่อเปรียบเทียบความหนาแน่นของละอองสาร การตกค้างของละอองสารบนช่อดอกกล้วยไม้ การสูญเสียของละอองสารลงสู่ดินและการตกค้างของละอองสารบนส่วนต่างๆ ของผู้พ่นด้วยวิธี colorimetric method วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 6 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ได้แก่ กรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอก ที่อัตราพ่น 6, 8, 10 และ 12 ลิตรต่อไร่ พ่นที่แนวพ่นสาร 3 เมตร เปรียบเทียบกับกรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงอัตราพ่น 120 ลิตรต่อไร่ (อัตราพ่นแนะนำ) และอัตราพ่น 160 ลิตรต่อไร่ (อัตราพ่นของเกษตรกร) พ่นที่แนวพ่นสาร 0.5 เมตร ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอกมีความหนาแน่นของละอองสารในระดับที่สูงกว่ากรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงทั้ง 2 อัตรา และมีการตกค้างของละอองสารบนช่อดอกที่ไม่แตกต่างกันทางสถิติแม้จะมีอัตราพ่นที่น้อยกว่า 10 - 27 เท่าก็ตาม ตลอดจนการพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอกสามารถลดการสูญเสียของละอองสารลงสู่ดินได้มากกว่า 13 เท่าและลดการตกค้างของละอองสารบนส่วนต่างๆ ของผู้พ่นได้มากกว่า 38 เท่า ตามลำดับ เพื่อยืนยันผลการทดลองจึงทำการทดสอบประสิทธิภาพของวิธีการพ่นด้วยสารฆ่าแมลง thiamethoxam/lambdacyhalothrin 24.7% EC) ที่อัตรา 120 มิลลิลิตรต่อไร่ (อัตราแนะนำ) และที่อัตรา 160 มิลลิลิตรต่อไร่ (อัตราของเกษตรกร) จำนวน 2 แปลงทดลอง ผลการทดลองพบว่า ทุกกรรมวิธีการพ่นมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดบั่วกล้วยไม้ไม่แตกต่างกันทางสถิติ อย่างไรก็ตามกรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องพ่นหมอกสามารถลดปริมาณสารฆ่าแมลงได้ถึง 25% เมื่อเทียบกับวิธีการของเกษตรกรและสามารถลดเวลาในการทำงานลงได้มากกว่า 25% และ 30% เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีแนะนำและกรรมวิธีของเกษตรกร