ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
#1
ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
กุศล ถมมา

          โครงการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียง เหนือตอนบน ประกอบด้วย 2 กิจกรรม กิจกรรมที่ 1 เป็นการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารและการจัดการศัตรูพืช จำนวน 5 การทดลอง ดำเนินงานใน 5 พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม และจังหวัดเลย ส่วนกิจกรรมที่ 2 เป็นการศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคพืชอินทรีย์ จำนวน 1 การทดลอง โครงการนี้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 - 2560 ซึ่งกิจกรรมที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบผลิตพืชอินทรีย์ด้วยการจัดการธาตุอาหารและการควบคุมศัตรูพืชให้ได้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยใช้แผนการทดลองแบบ RCB 2 ซ้ำ 2 กรรมวิธี คือวิธีทดสอบและกรรมวิธีเกษตรกร ในจังหวัดกาฬสินธุ์ใช้ กะหล่ำปลี คะน้า และกวางตุ้ง เป็นพืชทดสอบ ในกรรมวิธีทดสอบเป็นการจัดการธาตุอาหารโดยเติมการใส่ปูนขาว และปุ๋ยหมักเติมอากาศ 2 ตัน/ไร่ ป้องกันโรคทางดินโดยการใส่ปุ๋ยหมักผสมราไตรโคเดอร์มา อัตรา 2 กิโลกรัม/ตารางเมตร กำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยมือ กับดักแมลง และชีวินทรีย์ เช่น บีที ไวรัสเอ็นพีวี ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย หรือสารสกัดสมุนไพร ในกรรมวิธีเกษตรกรใส่ปุ๋ยหมัก 1 – 3 ตัน/ไร่ ควบคุมแมลงโดยใช้น้ำหมักพืชสมุนไพร พบการแสดงอาการของโรครากเน่าในกรรมวิธีทดสอบน้อยกว่ากรรมวิธีเกษตรกรทุกแปลง ส่วนแมลงศัตรูพืชที่พบ คือ ด้วงหมัดผัก เพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกะหล่ำ และหนอนเจาะยอดกะหล่ำ โดยในกรรมวิธีทดสอบที่มีการใช้การป้องกันกำจัดโดยใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับการใช้วิธีกล สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ดีกว่าการใช้น้ำหมักสมุนไพร กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตสูงกว่ากรรมวิธีของเกษตรกร โดยกะหล่ำปลีให้ผลผลิต 3,218 และ 3,187 กิโลกรัม/ไร่ คะน้าให้ผลผลิต 1,090 และ 740 กิโลกรัม/ไร่ กวางตุ้งให้ผลผลิต 1,240 และ 960 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ ส่วนแปลงทดสอบจังหวัดขอนแก่น ทดสอบในกวางตุ้ง คะน้า และผักกาดหอม โดยปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักเติมอากาศอัตรา 2.76 ตัน/ไร่ โดยแบ่งใส่ 2 รอบ พร้อมกับการเตรียมแปลง และผสมใช้พร้อมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา จากการทดสอบผลิตกวางตุ้งอินทรีย์ ในกรรมวิธีทดสอบได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,013 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรที่ให้ผลผลิต 1,960 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยของผักกาดหอมในแปลงทดสอบ 1,451 กิโลกรัม/ไร่ ใกล้เคียงกับกรรมวิธีเกษตรกรให้ผลผลิต 1,477 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนคะน้าในกรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,807 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรให้ผลผลิต 1,773 กิโลกรัม/ไร่ โดยไม่พบสารพิษตกค้างและจุลินทรีย์ปนเปื้อนในผลผลิตจากทั้งสองกรรมวิธี จังหวัดนครพนม เลือกพืชทดสอบ 3 ชนิด ได้แก่ กวางตุ้ง หอมแบ่ง และผักกาดหอม โดยกรรมวิธีทดสอบเป็นป้องกันกำจัดแมลงโดยใช้ไส้เดือนฝอย และควบคุมโรคพืชโดยใช้ราไตรโคเดอร์มา ปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยหมักหมักแห้งชีวภาพผสมราไตรโคเดอร์มาอัตรา 1.8 ตัน/ไร่ ในช่วงเตรียมแปลง และใส่เพิ่มในช่วงที่ผักเจริญเติบโต 720 กิโลกรัม/ไร่ รวม 2.52 ตัน/ไร่ ให้ผลผลิต รายได้ และผลตอบแทน มากกว่าวิธีเกษตรกรที่ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 0.9 - 1.8 ตัน/ไร่ การผลิตผักอินทรีย์ทั้ง 3 ชนิด แม้ในกรรมวิธีทดสอบจะใช้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกร แต่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนสูง โดยในกวางตุ้ง ให้ผลผลิตและผลตอบแทน 334 กิโลกรัม/ไร่ และ 3,333 บาท/ไร่ หอมแบ่ง 188 กิโลกรัม/ไร่ และ 3,142 บาท/ไร่ ผักกาดหอม ให้ 267 กิโลกรัม/ไร่ และ 4,640 บาท/ไร่ ตามลำดับ ส่วนการทดสอบในพื้นที่จังหวัดเลยเป็นการทดสอบผลิตบร็อคโคลี่ มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี (2560) โดยในกรรมวิธีทดสอบได้ใส่ปุ๋ยหมักเติมอากาศ 500 กิโลกรัม/ไร่ โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 9,933 ต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 400 บาท กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตและรายได้ต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกร โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,045 กิโลกรัม/ไร่ ต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกรที่ได้ 2,133 กิโลกรัม/ไร่ กรรมวิธีทดสอบมีรายได้เฉลี่ย 102,250 บาท/ไร่ ต่ำกว่ากรรมวิธีเกษตรกรที่ได้ 106,638 บาท/ไร่ แต่ทั้งสองกรรมวิธีมีค่า BCR เฉลี่ยเท่ากัน คือ 10 ส่วนการทดสอบการจัดการธาตุอาหารและการจัดการศัตรูพืชในการผลิตกล้วยอินทรีย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ในกรรมวิธีทดสอบใส่ปุ๋ยอินทรีย์หมักแบบเติมอากาศ อัตรา 0.88 กิโลกรัม/ต้น เมื่อกล้วยอายุ 1 เดือน จากนั้นใส่ปุ๋ยหมัก 1.76 กิโลกรัม/ต้น เมื่อกล้วยอายุ 3 6 และ 8 เดือน เทียบกับวิธีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ของเกษตรกร และจัดการศัตรูพืชด้วยการห่อเครือกล้วยด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า พบว่าผลผลิตกล้วยในแปลงทดสอบที่ออกเครือแล้ว 3 แปลง กรรมวิธีทดสอบมีจำนวนหวีเฉลี่ย 6.9 หวี/เครือ มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ที่มีค่าเฉลี่ย 6.5 หวี/เครือ กรรมวิธีทดสอบให้น้ำหนักเฉลี่ย 11.8 กิโลกรัม/เครือ สูงกว่ากรรมวิธีทดสอบที่ให้น้ำหนักเฉลี่ย 9.4 กิโลกรัม/เครือ นอกจากนี้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตกล้วยอินทรีย์ โดยใช้ถุงฟ้าปลายเปิดเพื่อห่อเครือกล้วยหลังการตัดปลีไม่เกิน 15 วัน ช่วยลดการท าลายของศัตรู กล้วยได้

          กิจกรรมที่ 2 คือ การศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคพืชอินทรีย์ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ระบบการผลิตพืชอินทรีย์ พัฒนาศักยภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตคุณภาพตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยดำเนินการสำรวจแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม อุดร หนองบัวลำภู เลย และชัยภูมิ จำนวนรวม 21 แหล่งผลิต ผู้ดำเนินการผลิตเป็นเกษตรกรหรือบุคคลธรรมดา 15 แหล่งผลิต เป็นกลุ่มเกษตรกรหรือแหล่งเรียนรู้ 5 แหล่งผลิต เป็นบริษัท 1 แหล่งผลิต ได้ทำการวิเคราะห์ SWOT เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบผลิตในแหล่งผลิต จำนวน 10 แหล่ง พัฒนาระบบการผลิตโดยการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ การใช้วิธีกลและชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น มีการเชื่อมโยงการตลาดและประชาสัมพันธ์ ให้เกษตรกรนำผลผลิตไปจำหน่ายในตลาดปลอดภัย ทั้งระดับชุมชนและระดับจังหวัด โดยมีแปลงที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กรมวิชาการเกษตร จำนวน 16 แหล่ง และเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชน 5 แหล่ง โดยแหล่งที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กรมวิชาการเกษตร ได้จัดประชุม เสวนา ให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้จัดอบรมการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอผาขาว จังหวัดเลย มีกิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์ จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ได้จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้จัดทำสื่อออนไลน์ (web site) เพื่อให้ง่ายต่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค โดยมีที่อยู่เวปไซต์ (URL) คือ www.organicoard3.com ซึ่งภายในเวปไซต์ ประกอบไปด้วย เมนูที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ข้อมูลแปลงเกษตรอินทรีย์ บทความและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการเชื่อมโยงกับคลังข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร การจัดการดินและปุ๋ย เทคนิควิธีใช้จุลินทรีย์ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มหรือชุมชนเกษตรอินทรีย์ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   49_2560.pdf (ขนาด: 1.08 MB / ดาวน์โหลด: 763)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม