09-13-2018, 03:14 PM
โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
นวลจันทร์ ศรีสมบัติ, พีชณิตดา ธารานุกูล, รัชดา ปรัชเจริญวนิชย์, ศรีนวล สุราษฎร์, สุพัตรา รงฤทธิ์, วนิดา โนบรรเทา, รัชดาวัลย์ อัมมินทร, ภัสชญภน หมื่นแจ้ง, ชูศักดิ์ แขพิมาย, จิระ อะสุรินทร์ และประสิทธ์ ไชยวัฒน์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุรินทร์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
นวลจันทร์ ศรีสมบัติ, พีชณิตดา ธารานุกูล, รัชดา ปรัชเจริญวนิชย์, ศรีนวล สุราษฎร์, สุพัตรา รงฤทธิ์, วนิดา โนบรรเทา, รัชดาวัลย์ อัมมินทร, ภัสชญภน หมื่นแจ้ง, ชูศักดิ์ แขพิมาย, จิระ อะสุรินทร์ และประสิทธ์ ไชยวัฒน์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุรินทร์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 2 การทดลอง คือ การจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสมในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์จังหวัดนครราชสีมา และการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดด้วงหมัดผักในการผลิตพืชผักตระกูลกะหล่ำในระบบอินทรีย์พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงดินการจัดการปุ๋ยและการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการระหว่างปี 2558 - 2560 ระยะเวลา 3 ปี ณ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยการทดลองการจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสมในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบ ปรับสภาพดินตามค่าวิเคราะห์ดินและใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน (กรมวิชาการเกษตร, 2553) เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรไม่มีการปรับสภาพดินและใส่ปุ๋ยตามอัตราและประมาณที่เกษตรกรเคยปฏิบัติ พบว่าการใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน ในการผลิตผักกรีนคอสอินทรีย์ ผักกาดแก้วอินทรีย์ เร็ดโอ็คอินทรีย์ และกรีนโอ็คอินทรีย์ได้ ไม่สามารถสรุปผลการเพิ่มผลผลิตผักอินทรีย์ได้ชัดเจน เนื่องจากผลผลิตที่ได้จากการทดลองมีค่าไม่แน่นอน แต่สามารถลดต้นทุนการผลิต และให้อัตราผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่ายการลงทุน (BCR) ที่คุ้มค่า ส่วนการยอมรับเทคโนโลยี เกษตรกรมีแนวโน้มยอมรับเทคโนโลยีการใส่หมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน โดยปี 2560 เกษตรกรมีการใช้อัตราปุ๋ยในปริมาณที่ลดลงจากที่เคยใช้ปกติและอัตราใกล้เคียงกับการใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน เนื่องจากเกษตรกรสังเกตว่าการใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน ให้ผลผลิตไม่แตกต่างจากอัตราปุ๋ยที่เกษตรกรใช้ การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดด้วงหมัดผักในการผลิตพืชผักตระกูลกะหล่ำในระบบอินทรีย์พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบฉีดพ่นไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชผัก เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร ใช้น้ำส้มควันไม้ หรือบางรายไม่มีการจัดการใดๆ พบว่าไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยสามารถช่วยกำจัดและควบคุมแมลงศัตรู กวางตุ้ง คะน้า และกะหล่ำปลี เช่น ด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้ หนอนใย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรรมวิธีทดสอบจะได้ผลผลิตและมีค่า BCR สูงกว่าวิธีเกษตรกร ส่วนการยอมรับของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรมีการนำไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยไปฉีดแปลงผักเกือบทุกชนิดที่ปลูก เนื่องจากสามารถกำจัดหนอนในกวางตุ้งและคะน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ