ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของทานตะวันชนิดสกัดน้ำมันในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
#1
ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของทานตะวันชนิดสกัดน้ำมันในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
ปิยะรัตน์ จังพล, รัศมี สิมมา และธำรง เชื้อกิตติศักดิ์
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทน และศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี

          ทานตะวันเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกพืชหนึ่งของประเทศไทย โดยใช้บริโภคภายในประเทศในรูปอาหารว่าง ประกอบอาหาร และแปรรูปได้หลายอย่าง ปัจจุบันทานตะวันมีแนวโน้มพื้นที่การผลิตลดลงพบว่า ปีในปี 2551 มีพื้นที่ปลูก 168,332 ไร่ ผลผลิต 19,346 ตัน ในปี 2556 มีพื้นที่ปลูกทานตะวัน 56,345 ไร่ ผลผลิต 10,620 ตัน ลดลงจากปี 2551 ถึง 33 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการศึกษาสถานการณ์การผลิต การตลาด  เทคโนโลยีการผลิต ปัจจัยการผลิต โอกาส ข้อจำกัด ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในผลิตทานตะวัน การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) โดยการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกทานตะวัน  ในเขตภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และภาคกลางตอนบน  จังหวัดลพบุรี ในปี 2556 จำนวน 66 ราย ปี 2557 จำนวน 70 ราย พบว่าเกษตรกร 100 เปอร์เซ็นต์ ปลูกทานตะวันเป็นพืชรองจากข้าวโพด โดยอาศัยน้ำฝนปลูกเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม มีการไถหรือเผาตอซังข้าวโพดก่อนไถเตรียมแปลงปลูก โดยไถเตรียมแปลง 1 - 2 ครั้ง พร้อมการหว่านหรือหยอดเมล็ด หรือพร้อมปุ๋ยรองพื้น พันธุ์ทานตะวัน 100 เปอร์เซ็นต์เป็นพันธุ์ลูกผสมของบริษัทเอกชน ได้แก่ พันธุ์จัมโบ้ พันธุ์โอริซัน3 พันธุ์อาตูเอล และพันธุ์อะควอร่า6  ปี 2556 เกษตรกรผู้ปลูกทานตะวัน มีผลผลิต 28 – 300 กิโลกรัมต่อไร่  เฉลี่ย 128 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาผลผลิต 11 - 22 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิต 963 - 3,263 บาทต่อไร่ เฉลี่ย 1,744 บาทต่อไร่ (18.06 บาทต่อกิโลกรัม) แบ่งเป็นต้นทุนผันแปร เฉลี่ย 1,284 บาทต่อไร่ (74 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยค่าแรงงาน 34 เปอร์เซ็นต์ ค่าวัสดุทางการเกษตร 40 เปอร์เซ็นต์ ) ต้นทุนคงที่ 460 บาทต่อไร่ (26 เปอร์เซ็นต์) รายได้ 499 – 6,650 บาทต่อไร่ เฉลี่ย 2,348 บาทต่อไร่ ขาดทุน 33 บาท ถึงมีกำไร 4,555 บาทต่อไร่ เฉลี่ยมีกำไร 604 บาทต่อไร่ ปี 2557 มีผลผลิต 89 – 376 กิโลกรัมต่อไร่  เฉลี่ย 207 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาผลผลิต 15 - 19.50 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิต 1,331 - 3,120 บาทต่อไร่ เฉลี่ย 2,074 บาทต่อไร่ (10.84 บาทต่อกิโลกรัม) แบ่งเป็นต้นทุนผันแปร เฉลี่ย 1,446 บาทต่อไร่ (70 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย ค่าแรงงาน 28 เปอร์เซ็นต์ ค่าวัสดุทางการเกษตร 42 เปอร์เซ็นต์)  ต้นทุนคงที่ 627 บาทต่อไร่ (30 เปอร์เซ็นต์) รายได้ 1,558 – 6,768 บาทต่อไร่ เฉลี่ย 3,748 บาทต่อไร่ ขาดทุน 282 บาท ถึงกำไร 4,466 บาทต่อไร่ เฉลี่ยได้กำไร 1,675 บาทต่อไร่ ปัญหาในการผลิตทานตะวัน เกษตรกร 51 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าปัญหาราคาเมล็ดพันธุ์แพงเป็นปัญหาหลัก นอกจากนั้นยังมีปัญหานกกินเมล็ด  ฝนแล้ง ราคาผลผลิตตกต่ำ หนอนเจาะดอกทานตะวัน และแมลงกินต้นอ่อน ถึงแม้ว่าจะมีเพียงเกษตรกรบางกลุ่มที่ยังปลูกทานตะวันอยู่แต่ปัญหาดังกล่าวก็ถือว่าสำคัญ หน่วยงานของรัฐจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   134_2557.pdf (ขนาด: 424.16 KB / ดาวน์โหลด: 1,401)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม