วิจัยและพัฒนาเงาะ
#1
วิจัยและพัฒนาเงาะ
นิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร, ทวีศักดิ์ แสงอุดม, จรีรัตน์ มีพืชน์, พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์, อรวินทินี ชูศรี, สำเริง ช่างประเสริฐ และอภิรดี กอร์ปไพบูลย์
สำนักผู้เชี่ยวชาญ, สถาบันวิจัยวิจัยพืชสวน, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

          การศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ของเงาะ 14 พันธุ์ ศึกษาทั้งลักษณะทางปริมาณและคุณภาพพบว่า ลักษณะรูปร่างใบของเงาะทุกพันธุ์เป็นแบบ Elliptic ส่วนปลายใบเป็นแบบ Acuminate และ Acute ฐานใบเป็นแบบ Cuneate และ Acute ลักษณะทรงผลแบบ Globose Ovoid และ Oblong สีผิวผลอยู่ในกลุ่มสีเหลืองส้ม และสีส้ม ส่วนลักษณะสีขนอยู่ในกลุ่มสีแดงชมพู ยกเว้น พันธุ์น้ำตาลกรวดที่มีผิวผลสีเหลือง ลักษณะเมล็ดเป็น Obovoid และ Obovoid elongate การทดสอบพันธุ์เงาะในภาคเหนือ จ.เชียงราย พบว่าเงาะพันธุ์สีทองมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด รองมา คือ พันธุ์โรงเรียน และแดงจันทบูร ส่วนพันธุ์พลิ้ว3 มีอัตราการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่ำสุด เริ่มออกดอกครั้งแรกหลังปลูก 4 ปี การใช้สารเมบิควอทคลอไรด์ เอทธีฟอน และพาโคลบิวทราโซล ป้ายที่กิ่งหลักของเงาะในช่วงก่อนการออกดอก 2 เดือน มีผลในการควบคุมการออกดอกของเงาะเพียงเล็กน้อย ออกดอกก่อนกรรมวิธีที่ไม่ป้ายสาร 4 - 8 วัน โดยเปอร์เซ็นต์การออกดอก ผลผลิต และคุณภาพผลของทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกัน การจัดการช่อและการตัดแต่งช่อผลให้เหลือ 8 ผล/ช่อ ให้ผลเงาะที่มีน้ำหนักมากที่สุด มีจำนวนผล 25 ผล/กิโลกรัม จัดอยู่ในขนาดที่ 1 การตัดแต่งกิ่งแบบหนักและควบคุมความสูงต้น 3 เมตร ต้นเงาะสามารถแทงช่อดอกได้เร็ว และมีปริมาณผลผลิตเท่ากับ 124.0 กก./ต้น และการตัดแต่งกิ่งที่ความสูง 3 เมตร ให้ผลผลิตสูงสุด 117.20 กิโลกรัม/ต้น เป็นผลผลิตชั้นพิเศษ ชั้นหนึ่ง และชั้นสอง

          การใช้ระบบ Cold-Chain โดยวิธี Pre–Cooling ร่วมกับสารเพิ่มประสิทธิภาพ การเคลือบผิวเงาะด้วย palm oil และ Carboxymethyl Cellulose (CMC) ทำให้สามารถยืดอายุเงาะให้มีคุณภาพได้ประมาณ 12 วัน ซึ่งคุณภาพยังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ผลการทดลองที่ได้จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การศึกษาวิธีจัดการและระยะเวลาในการลดความชื้นเงาะที่เหมาะสมในโรงคัดบรรจุสำหรับส่งออก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความชื้น โดยผลผลิตเงาะไม่เสียคุณภาพ การลดความชื้นเงาะด้วยวิธีการปั่นเหวี่ยงสามารถนำมาทดแทนการลดความชื้นด้วยวิธีการเดิม สามารถลดระยะเวลาในการลดความชื้นเงาะได้มากกว่า 50 เปอร์เซนต์ โดยคุณภาพเงาะหลังการลดความชื้นไม่แตกต่างจากวิธีการเดิม มีอายุการเก็บรักษาระหว่างการขนส่งสู่ผู้บริโภคและวางจำหน่ายได้ 22 วัน ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส การสกัดสารซาโปนินจากเปลือกเงาะ สารที่สกัดได้มีคุณสมบัติเป็นไตรเทอร์พีนซาโปนิน และสเตียรอยด์ซาโปนิน วิเคราะห์ปริมาณซาโปนินด้วยเครื่องสเปคโตรโฟโตมิเตอร์ ตามวิธีของ Pasaribu, 2014 พบว่า สารที่สกัดแบบไหลย้อนกลับด้วยเมทานอล 70% มีปริมาณสารซาโปนิน 422.05 mg/g ที่ 2,000 และ 4,000 ppm หอยเชอรี่ตายภายใน 12 ชม. ทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อรา 3 ชนิด ในจานเลี้ยงเชื้อ คือ Phytophthora palmivora, Colletotrichum sp. and Marasmius palmivorus Sparples บนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ผสมสารสกัดหยาบซาโปนินที่ความเข้มข้น 2,000 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ทั้ง 3 ชนิด


ไฟล์แนบ
.pdf   212_2558.pdf (ขนาด: 3.93 MB / ดาวน์โหลด: 12,221)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม