การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจันทน์เทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจันทน์เทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
สมคิด ดำน้อย, อนงค์นาฏ พรหมทสาร, อุดมพร เสือมาก, วิริยา ประจิมพันธ์, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์, พงษ์มานิตย์ ไทยแท้, วรรณณา อุปถัมย์ และอรสิรี ดำน้อย

          จันทน์เทศ เป็นพืชท้องถิ่นของภาคใต้ที่มีแนวโน้มจะสูญหายไปจากท้องถิ่น แม้จะมีการกล่าวถึงประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย แต่เนื่องจากการพัฒนาและขยายตัวของพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ทำให้พืชท้องถิ่นกลายเป็นพืชที่ถูกมองข้าม ทำให้ขาดทั้งข้อมูลพื้นฐาน และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจันทน์เทศ โดยการสำรวจ ศึกษาเชื้อพันธุกรรมเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ ของจันทน์เทศในการพัฒนาการปลูก เทคโนโลยีการผลิต ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ดำเนินการทั้งในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ จังหวัดกระบี่ และแหล่งผลิตจันทน์เทศที่สำคัญของพื้นที่ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และพังงา ตั้งแต่ปี พ.ศ 2554 ถึงปี พ.ศ. 2558 จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการปลูกจันทน์เทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนพบว่า การปลูกจันทน์เทศเป็นสวนผสมผสานขนาดเล็กปะปนกับไม้ผลอื่นๆ ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ในตำบลทุ่งระยะ อำเภอสวี และตำบลแหลมทราย อำเภอหลังสวน ของจังหวัดชุมพร และในพื้นที่ตำบลถ้ำน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ขณะที่จังหวัดกระบี่มีการปลูกจันทน์เทศภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่เท่านั้น จึงทำการบันทึกข้อมูลจำนวนต้น/พื้นที่ปลูก พร้อมพิกัดตำแหน่งจีพีเอส จัดทำเป็นแผนที่การกระจายตัวของการปลูกจันทน์เทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และทำการศึกษาลักษณะพันธุ์จันทน์เทศ โดยใช้ลักษณะภายนอกของผลจันทน์เทศ (ผล รก และเมล็ด) บันทึกข้อมูลลักษณะของผลจันทน์เทศของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นพื้นมูลพื้นฐาน และใช้เป็นข้อมูลในการคัดเลือกสายต้นจันทน์เทศสำหรับปลูกในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์จันทน์เทศ ที่สามารถคัดเลือกได้ทั้งหมด 7 สายต้น ได้แก่  กระบี่1 กระบี่2 ชุมพร1 ชุมพร2 นครศรีธรรมราช1 นครศรีธรรมราช2 และพังงา1 หลังจากปลูกทดสอบไปแล้ว 3 ปี ปรากฏว่า ต้นจันทน์เทศชุมพร1 มีการเจริญเติบโตทั้งด้านขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น และด้านความสูงของลำต้นมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.16 เซนติเมตร และ 106.60 เซนติเมตร ตามลำดับ  ส่วนการศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของต้นจันทน์เทศในรอบปีที่จังหวัดกระบี่ (ภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตก) และจังหวัดชุมพร (ภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันออก) ศึกษาด้านการแตกใบ การออกดอก และการติดผลเบื้องต้น พบว่าการแตกใบและการออกดอกสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝน ซึ่งการแตกใบอ่อนและการออกดอกของจันทน์เทศที่จังหวัดกระบี่มีรูปแบบและค่อนข้างสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนโดยตรงมากกว่าต้นจันทน์เทศของจังหวัดชุมพร สำหรับการศึกษาสภาพการผลิตจันทน์เทศในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนที่เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ รวบรวมข้อมูลในเขตจังหวัดพังงา ชุมพร  และนครศรีธรรมราช พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 51 ปี และประกอบอาชีพเกษตรกร มีรายได้จากการผลิตจันทน์เทศ 30,001 - 40,000 บาทต่อปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่มีสภาพพื้นที่เป็นที่เชิงเขา ลักษณะเนื้อดินเป็นดินเหนียวปนทราย การปลูกจันทน์เทศจะปลูกเป็นพืชผสมผสานในทุกจังหวัด และอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ต้นจันทน์เทศมีอายุระหว่าง 11 - 20 ปี และให้ผลผลิตมาแล้ว 6 - 10 ปี การจัดการสวนมีการกำจัดวัชพืชแต่ไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี ด้านผลผลิตใช้การจ้างแรงงานในการเก็บผลผลิต จำหน่ายผลผลิตโดยอาศัยพ่อค้าคนกลาง ส่วนใหญ่จำหน่ายผลผลิตในรูปของผลสด และไม่นิยมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์


ไฟล์แนบ
.pdf   158_2558.pdf (ขนาด: 1.22 MB / ดาวน์โหลด: 3,764)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม