โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะเม่าพื้นที่จังหวัดสกลนคร
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะเม่าพื้นที่จังหวัดสกลนคร
ศิริรัตน์ เถื่อนสมบัติ, พรทิพย์ แพงจันทร์, วีระวัฒน์ ดู่ป้อง, จุฑามาส ศรีสำราญ, วิไลศรี ลิมปพะยอม, กิติพร เจริญสุข, บุญเชิด วิมลสุจริต, ญาณิน สุปะมา, ศักดิ์สิทธิ์ จรรยากรณ์ และวราพร วงค์ศิริวรรณ

          มะเม่าเป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae สกุล Antidesma มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Antidesma thwaitesianum Müll.Arg. พบมากในแถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร เป็นพืชท้องถิ่นเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสกลนคร งานวิจัยครั้งนี้ศึกษามะเม่าหลวง (A. thwaitesianum Muell Arg.) โดยการสำรวจ รวบรวม และศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ จัดทำชั้นมาตรฐานคุณภาพ สร้างแผนที่แสดงแหล่งปลูกพร้อมจัดทำฐานข้อมูลการผลิตมะเม่า โดยสุ่มตัวอย่างเกษตรกรผู้ปลูกมะเม่าจำนวน 60 ราย จากแบบสำรวจและสมาชิกชมรมผู้ปลูกมะเม่าในจังหวัดสกลนคร ที่มีต้นมะเม่าอายุระหว่าง 5 - 15 ปี และอยู่ในระยะให้ผลผลิตพบว่า มะเม่ามีชื่อเรียกตามที่อยู่อาศัยและสภาพพื้นที่ปลูกเป็นหลัก เช่น พันธุ์ฟ้าประทาน สร้างค้อ1 สร้างค้อ2 เป็นต้น โดยจัดกลุ่มแบ่งออกตามลักษณะใบที่มีลักษณะต่างกัน ได้ 2 กลุ่ม คือ ใบแหลมยาว 10 สายต้น และใบกว้างมน 7 สายต้น ชั้นมาตรฐานคุณภาพของมะเม่าซึ่งได้คัดเลือกตามลักษณะทางกายภาพ ผลผลิต และคุณภาพผลผลิต พบว่าชั้นมาตรฐานคุณภาพของมะเม่าสดในเทือกเขาภูพาน แบ่งออกได้ 3 ชั้นมาตรฐาน คือ A B และ C ตามลำดับ การสร้างแผนที่แสดงแหล่งปลูกมะเม่า โดยใช้เครื่องมือ GPS รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดเก็บตามระบบ GIS ผ่านโปรแกรม ArcView พบว่าบริเวณพื้นที่ปลูกมะเม่ามีกลุ่มชุดดินที่ 35 และ 17 ลักษณะชุดดิน โคราช ยโสธร และร้อยเอ็ด ตามลำดับ ระบบฐานข้อมูลการผลิตมะเม่าจากข้อมูลแบบสัมภาษณ์เกษตรกร จัดหมวดหมู่ข้อมูลได้ทั้งหมด 8 กลุ่ม ได้แก่ ที่อยู่ของเกษตรกร ที่ตั้งแปลง พันธุ์ที่ปลูก การจัดการสวน การใช้ปุ๋ย การป้องกันกำจัดแมลง พิกัดที่ตั้งแปลง และผลการวิเคราะห์ดิน ซึ่งระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันสามารถเรียกใช้งานในรูปแบบตารางเก็บข้อมูลและเชื่อมความสัมพันธ์แต่ละตารางเข้าด้วยกัน โดยเรียกดูข้อมูลได้จากเมนูหน้าหลักของระบบ


          มะเม่าให้ผลผลิตระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคมของทุกปี แต่สภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ดังนั้นจึงศึกษาผลของการให้น้ำแบบละอองหมอกต่อการติดผลของมะเม่า ดำเนินการในแปลงเกษตรกรและแปลงทดลองพื้นที่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร วางแผนการทดลองแบบ RCD 2 กรรมวิธีๆ ละ 5 ต้น กรรมวิธีที่ 1 ไม่มีระบบการให้น้ำ (อาศัยน้ำฝน) กรรมวิธีที่ 2 ให้น้ำแบบละอองหมอก ให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมง ระยะเวลาที่ดำเนินการปี 2557 และ 2558 ผลการศึกษาในแปลงเกษตรกรพบว่า ไม่มีระบบการให้น้ำ (อาศัยน้ำฝน) ให้ผลผลิตอยู่ระหว่าง 1,347 - 2,388 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักผลต่อช่อระหว่าง 17 - 38 กรัม สัดส่วนการสุกต่อช่อผลระหว่าง 40 - 50 เปอร์เซ็นต์ ให้น้ำแบบละอองหมอก ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3,081 - 3,854 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักผลต่อช่อระหว่าง 20 - 50 กรัม สัดส่วนการสุกเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 40 - 70 เปอร์เซ็นต์ แปลงทดลองพื้นที่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร พบว่าไม่มีระบบการให้น้ำ (อาศัยน้ำฝน) ให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 138 - 291กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักผลต่อช่อระหว่าง 3 - 10 กรัม สัดส่วนการสุกต่อช่อผลอยู่ระหว่าง 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ให้น้ำแบบละอองหมอก ผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 148 - 420 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักผลต่อช่อระหว่าง 9 - 10 กรัม สัดส่วนการสุกต่อช่อผลอยู่ระหว่าง 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ การให้น้ำแบบละอองหมอกมีอิทธิพลต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิต การให้น้ำในระยะติดดอก ติดผล ควรมีการให้น้ำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้งๆ ละ 2 ชั่วโมง และในช่วงติดผลอ่อนและติดผลอ่อนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ควรดูแลเป็นพิเศษจึงจะสามารถลดการร่วงของผลมะเม่าได้ ปัจจุบันผลผลิตมะเม่าเป็นที่ต้องการของตลาดด้านการแปรูปอย่างต่อเนื่อง แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากมะเม่าให้ผลผลิตปีละครั้ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการแปรรูปมะเม่าเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและเพิ่มมูลค่า จากผลงานวิจัยพบว่า น้ำมะเม่ามีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระและสามารถเก็บรักษาได้จึงพัฒนาชุดเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำหมากเม่าพร้อมดื่มเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าเฉพาะถิ่นได้ศึกษาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกนำไปผลิตเพื่อเป็นสินค้า เช่น ขนมขบเคี้ยวกัมมี่ เยลลี่แข็ง พั้นซ์มะม่า ไอศกรีมมะเม่านมสด น้ำมะเม่าเพื่อสุขภาพ (หญ้าหวาน) เป็นต้น


ไฟล์แนบ
.pdf   149_2558.pdf (ขนาด: 5.61 MB / ดาวน์โหลด: 7,544)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 4 ผู้เยี่ยมชม