วิจัยการปรับปรุงพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตชา
#1
วิจัยการปรับปรุงพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตชา
สมพล นิลเวศน์

          วิจัยการปรับปรุงพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตชา ประกอบด้วย 6 การทดลอง ได้แก่ 1. วิจัยและพัฒนาพันธุ์ชากลุ่มพันธุ์ชาอัสสัมที่ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพที่ระดับความสูงต่างๆ กัน ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย) โดยทำการคัดเลือกกลุ่มพันธุ์ชาอัสสัมจาก 4 แหล่ง คือ กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัมจังหวัดน่าน กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัมอำเภอฝาง กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัมจังหวัดตาก และกลุ่มพันธุ์ชาอัสสัมอำเภอพร้าว ดำเนินการทดลองในปี 2554 - 2558 พบว่า กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัมฝาง มีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านทรงพุ่มสูงสุดเท่ากับ 0.237 ซม.ซม.-1เดือน–1 และยังพบอีกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางด้านความสูง กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัมฝาง มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดเท่ากับ 0.085 ซม. ซม.-1เดือน–1 และจากผลการทดลองดังกล่าวจะนำกลุ่มพันธุ์อัสสัมที่ผ่านการคัดเลือกไปทดสอบปลูกในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป 2. การเปรียบเทียบและทดสอบพันธุ์ชาพันธุ์พื้นเมืองที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนซ์สูง ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย) โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB มี 8 กรรมวิธี 7 ซ้ำ ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 ชาพื้นเมืองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรรรมวิธีที่ 2 ชาพื้นเมืองจากดอยตุง กรรรมวิธีที่ 3 ชาพื้นเมืองจากแม่จอนหลวง กรรรมวิธีที่ 4 ชาพื้นเมืองจากโป่งน้อย กรรรมวิธีที่ 5 ชาพื้นเมืองจากอำเภอแม่ฟูาหลวง กรรรมวิธีที่ 6 ชาพื้นเมืองจากจังหวัดน่าน กรรรมวิธีที่ 7 ชาพื้นเมืองจากอำเภอพร้าว และกรรรมวิธีที่ 8 ชาพื้นเมืองจากประเทศจีน ระยะเวลาดำเนินการทดลองในปี 2554 - 2558 พบว่า ชาพื้นเมืองจากอำเภอแม่ฟูาหลวง มีอัตราการเจริญเติบโตทรงพุ่มสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 11.806 ซม.ซม.-1เดือน-1 ส่วนด้านความสูงพบว่า ชาพื้นเมืองจากโป่งน้อยมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 0.116 ซม.ซม.-1เดือน-1 และจากผลการทดลองดังกล่าว จะนำชาพื้นเมืองที่ผ่านการคัดเลือกไปทดสอบปลูกในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป 3. การทดสอบพันธุ์ชาเขียวสายพันธุ์ต่างประเทศจากต้นเพาะเมล็ด ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย) โดยนำชาเขียวสายพันธุ์ต่างประเทศจากการเพาะเมล็ดจำนวน 6 เบอร์ คือ เบอร์ 18 40 48 52 67 และ 77 มาปลูกทดสอบในพื้นที่ ระยะเวลาดำเนินการทดลองในปี 2554 - 2558 พบว่า ชาเขียวเบอร์ 40 มีอัตราการเจริญเติบโตทรงพุ่มสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 0.028 ซม.ซม.-1เดือน-1 ส่วนในด้านความสูงพบว่า ชาเขียวเบอร์ 67 มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 0.075 ซม.ซม.-1เดือน-1 และจากผลการทดลองดังกล่าว จะนำชาเขียวสายพันธุ์ต่างประเทศจากต้นเพาะเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือกไปทดสอบปลูกในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป 4. การศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับควบคุมทรงพุ่มชาอายุมาก ทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย) โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 6 กรรมวิธีๆ ละ 20 ต้น ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 ตัดแต่งเดือนพฤศจิกายน 2555 กรรมวิธีที่ 2 ตัดแต่งเดือนมกราคม 2556 กรรมวิธีที่ 3 ตัดแต่งเดือนมีนาคม 2556 กรรมวิธีที่ 4 ตัดแต่งเดือนพฤษภาคม 2556 กรรมวิธีที่ 5 ตัดแต่งเดือนกรกฎาคม 2556 และ กรรมวิธีที่ 6 ตัดแต่งเดือนกันยายน 2556 โดยทำการตัดแต่งทรงพุ่มชาที่ระดับความสูงประมาณ 50 ซม. ทุก 2 เดือน ดำเนินการทดลองในปี 2554 - 2558 พบว่า การตัดแต่งในเดือนมีนาคมมีอัตราการเพิ่มขนาดทรงพุ่มสูงสุดเท่ากับ 4.371 ซม.ซม.-1เดือน–1 อัตราการเจริญเติมโตด้านความสูงพบว่า การตัดแต่งในเดือนพฤศจิกายนมีอัตราการเจริญเติมโตสูงที่สุดเท่ากับ 2.977 ซม.ซม.-1เดือน–1 ส่วนน้ำหนักผลผลิตพบว่า การตัดแต่งต้นชาในเดือนมีนาคมมีผลผลิตเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 45.33 กรัมต่อ จากวิธีการดำเนินงานในปี 2554 - 2556 ได้ดำเนินการทดลองต่อโดยการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีในการทดลอง วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 3 กรรมวิธี 7 ซ้ำ คือ กรรมวิธีที่ 1 ไม่ตัดแต่งต้นชา กรรมวิธีที่ 2 ตัดแต่งต้นชาสูงจากพื้นดิน 15 ซม. กรรมวิธีที่ 3 ตัดแต่งต้นชาสูงจากพื้นดิน 30 ซม. ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก พบว่า กรรมวิธีที่ 1 ไม่ตัดแต่งต้นชา มีขนาดทรงพุ่มเฉลี่ยสูงสุด ส่วนผลผลิตเฉลี่ย และรายรับต่อวันสูงสุด คือ กรรมวิธีที่ 3 ตัดแต่งต้นชาสูงจากพื้นดิน 30 ซม. 5. ทดสอบและพัฒนาเครื่องนวดทรงกระบอกสำหรับชาเขียว ดำเนินการทดสอบและพัฒนาเครื่องนวดทรงกระบอกสำหรับนวดชาเขียว ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการผลิตชาเขียวอบไอน้ำ โครงสร้างที่สำคัญมี 5 ส่วน คือ โครงสร้างส่วนฐานเป็นโครงเหล็กขึ้นรูปทรงสี่เหลี่ยม ถาดนวดลักษณะสี่เหลี่ยมขึ้นขอบ พื้นถาดมีชุดเหล็กเส้นดัดโครง และเชื่อมติดพื้นถาดเป็นผิวถาดนวด ชุดฝาและเกลียวกด มีลักษณะแผ่นกลม โค้งนูนขึ้น ตรงจุดกึ่งกลางด้านบนมีที่ยึดติดกับแกนกด แกนกดนี้ยึดติดกับแขนกด ปลายอีกด้านของแขนกดมีปลอกที่มีเกลียวในติดอยู่ ปลอกนี้สวมอยู่กับเกลียวกดที่ปลายด้านบนของเกลียวกดมีมือหมุน สำหรับหมุนเพื่อให้ฝากดเลื่อนขึ้น-ลง ไปกดหรือเลื่อนขึ้นเปิดกระบอกนวดได้ กระบอกนวด ลักษณะถังทรงกระบอก ขอบล่างคลาดด้วยเหล็กหน้าตัดสี่เหลี่ยม 14 มิลลิเมตร และต้นกำลังใช้มอเตอร์ขนาด 1.5 กิโลวัตต์ ผลการทดสอบ ความเร็วรอบเพลาส่งกำลังที่เหมาะสม 62 รอบ/นาที ความเร็วรอบถังนวด 32 รอบ/นาที โดยใช้ยอดชาสดจำนวน 20 กิโลกรัม เวลานวด 40 นาที สุ่มดูชาที่นวดโดยผู้มีความชำนาญโดยพินิจด้วยสายตาว่าก้านชาถูกนวดจนช้ำ และแตกหมดแล้ว ความชื้นหลังนวดโดยเฉลี่ย 41% แล้วนำชาไปอบแห้งต่อในเครื่องอบแห้งจนแห้ง มีความชื้นประมาณ 7% และ 6. วิจัยและพัฒนาเครื่องมืออัดขึ้นรูปก้อนชา การวิจัยนี้ได้ทำการทดสอบและพัฒนาเครื่องมืออัดขึ้นรูปก้อนชา ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1) ชุดนึ่งไอน้ำก่อนอัดขึ้นรูปก้อนชา มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ 1.1) โต๊ะนึ่งที่พื้นโต๊ะมีกลุ่มรูให้ไอน้ำลอยขึ้นมาเพื่อใช้ในการนึ่งชา และ 1.2) หม้อต้มน้ำที่ใช้ผลิตไอน้ำ 2) เครื่องมืออัดก้อนขึ้นรูปชา มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ 2.1) โครงสร้างหลักลักษณะเป็นโต๊ะสี่เหลี่ยม 2.2) ชุดเกลียวอัดมีเกลียวตัวผู้เคลื่อนที่ผ่านปลอกเกลียวตัวเมียที่สวมอัดแน่นอยู่ใน มูเล่ย์เพื่อใช้ในการกดอัด และ 2.3) ชุดต้นกำลังและตู้ควบคุมการทำงาน การทดสอบอัดขึ้นรูปก้อนชา ใช้ชาเขียวที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบชาเขียวอบไอน้ำมาใช้ในการอัดก้อน น้ำหนักชาแห้ง 500 กรัม/ก้อน ใส่ในถุงผ้าแล้วนำไปวางบนโต๊ะนึ่ง โดยใช้เวลานึ่งประมาณ 60 - 90 วินาที อัดลงบล็อกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 205 มิลลิเมตร โดยแกะแผ่นรองด้านล่างให้เป็นร่องตัวหนังสือ ร่องตัวหนังสือกว้าง 5 มิลลิเมตร ลึก 4 มิลลิเมตร พบว่าก้อนชาที่อัดได้ มีลักษณะเป็นแผ่นกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 มิลลิเมตร หนา 20 มิลลิเมตร ตรงกลางแผ่นมีตัวหนังสือนูนขึ้น ชาก่อนนึ่งมีความชื้น 9.28 เปอร์เซ็นต์ หลังนึ่งมีความชื้น 30 เปอร์เซ็นต์ และก้อนชาหลังอัดมีความชื้น 27.19 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   123_2558.pdf (ขนาด: 2.76 MB / ดาวน์โหลด: 5,579)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม