วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขมิ้นชันอย่างยั่งยืน
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขมิ้นชันอย่างยั่งยืน
สุภาภรณ์ สาชาติ, สุมาลี ศรีแก้ว, ชญานุช ตรีพันธุ์, ศุภลักษณ์ ทองทิพย์, นาตยา ดำอำไพ, สุนิตรา คามีศักดิ์, ลัดดาวัลย์ อินทร์สังข์, บรรเจิด พูลศิลป์, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์, วรรณภา อุปถัมภ์, รัตนพร ทิพปันนา และนฤพงศ์ ยิ่งวุฒิวรกุล
สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา

          จากผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในเรื่องการปลูกขมิ้นชัน ทั้งด้านพันธุ์ขมิ้นชัน และแนวทางการควบคุมโรคเหี่ยวของขมิ้นชันโดยการใช้ปุ๋ยพืชสดจากพืชตระกูลกะหล่ำ ควรนำไปทดสอบในแปลงของเกษตรกรก่อน เพื่อการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จึงได้ทำการศึกษาเป็น 2 การทดลอง ได้แก่ ศึกษาการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของขมิ้นชันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในสภาพแปลงปลูก และการทดสอบขมิ้นชันพันธุ์ 84-2 และเทคโนโลยีการผลิตในแปลงเกษตรกร

          ศึกษาการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของขมิ้นชันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในสภาพแปลงปลูก ผลการทดลองปีแรก (ปี 2556) ในแปลงปลูกขมิ้นชันพันธุ์ตรัง 1 พบมีการระบาดของเชื้อแบคทีเรียตั้งแต่อายุ 3 เดือน และที่อายุ 5 ทุกกรรมวิธีต้นขมิ้นชันมีการตายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าสาเหตุจากมีฝนตกหนักติดต่อหลายวัน ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและมีอาการรุนแรง ประกอบกับไม่ได้ถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงทดลอง ลักษณะโรคจึงแสดงอาการรุนแรงเด่นชัด ขณะที่ปีที่ 2 (ปี 2557) ในระหว่างการทดลองเมื่อพบต้นเป็นโรคจะถอนต้นออกและใส่ปูนขาวฆ่าเชื้อในหลุม ทำให้ต้นขมิ้นชันที่อายุ 5 เดือน มีต้นเป็นโรคน้อยมากและให้ผลผลิตสูง โดยที่อายุ 9 เดือนมีน้ำหนักหัวและแง้งเฉลี่ย 1.05 กิโลกรัมต่อกอ หรือประมาณ 9,599 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้การใส่ปูนขาวร่วมกับปุ๋ยยูเรียพบว่า ต้นขมิ้นชันมีแนวโน้มมีการเจริญเติบโตดี ให้น้ำหนักหัวและแง้งสูงกว่าวิธีอื่นๆ คือ มีน้ำหนักเฉลี่ย 1.23 กิโลกรัมต่อกอ รองลงเป็นวิธีหมักผักกาดเขียวมี 1.14 กิโลกรัมต่อกอ ขณะที่วิธีควบคุมมีน้ำหนักต่ำที่สุด คือ 0.94 กิโลกรัมต่อกอ ทั้งนี้อาจเพราะสภาพดินมีคำความเป็นกรดลดลง และดินมีธาตุอาหารแคลเซียมและแมกนีเซียมเพิ่มขึ้น ส่วนในด้านโรค ในปีที่ 2 ไม่พบอาการของโรคเหี่ยว แม้ว่าพื้นที่นี้เคยปลูกขมิ้นชันและเป็นโรคนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งการหมักต้นผักกาดเขียวและมันเทศ การพ่นสารไคโตซาน พ่นน้ำหมักชีวภาพ การใส่ปูนขาวและยูเรีย สามารถลดปริมาณการเกิดโรคในขมิ้นชันได้ โดยเฉพาะวิธีหมักผักกาดเขียวและการใส่ปุ๋ยปูนขาวร่วมกับปุ๋ยยูเรีย สามารถลดได้ 25 - 30 เปอร์เซ็นต์

          การทดสอบขมิ้นชันพันธุ์ 84-2 และเทคโนโลยีการผลิตในแปลงเกษตรกร ทำการทดสอบขมิ้นชันพันธุ์ 84-2 และเทคโนโลยีการผลิตในแปลงเกษตรกร จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และจังหวัดพังงา ตั้งแต่ปี 2556 - 2558 รวม 3 ปี สรุปได้ว่า ขมิ้นชันที่ปลูกโดยใช้พันธุ์ 84-2 และดูแลโดยใช้เทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตร จะให้ผลผลิตสูงสุดเฉลี่ย 2,720 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนขมิ้นชันที่ปลูกโดยใช้พันธุ์พื้นเมือง และดูแลโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรกร จะให้ผลผลิตน้อยสุดเฉลี่ย 1,478 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนปัญหาเรื่องโรคนั้น พบเพียงแต่โรคเหี่ยว แต่ยังไม่รุนแรงมากจึงได้แนะนำให้ขุดและเผาทำลายต้นที่เป็นโรค


ไฟล์แนบ
.pdf   107_2558.pdf (ขนาด: 1.24 MB / ดาวน์โหลด: 4,377)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม