โครงการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเงาะคุณภาพ
#1
โครงการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเงาะคุณภาพ
อรวินทินี ชูศรี, นิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร, นิพัฒน์ สุขวิบูลย์, ทวีศักดิ์ แสงอุดม, ศิริพร วรกุลดำรงชัย, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, สมบัติ ตงเต๊า, ชมภู จันที, สำเริง ช่างประเสริฐ, สมพงษ์ สุขเขตต์, วรางคณา มากกำไร, ณิศชาญา บุญชนัง และศิริวรรณ ศรีมงคลศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี, สำนักผู้เชี่ยวชาญ, สถาบันวิจัยวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย

          การศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ของเงาะ 14 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์โรงเรียน สีชมพู สีทอง น้ำตาลกรวด บางยี่ขัน และเจ๊ะมง และพันธุ์ลูกผสมพลิ้ว 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 และ 8 ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จ.จันทบุรี ระหว่าง ปี 2554 - 2558 ศึกษาทั้งลักษณะทางปริมาณและคุณภาพพบว่า ลักษณะรูปร่างใบของเงาะทุกพันธุ์เป็นแบบ Elliptic ส่วนปลายใบเป็นแบบ Acuminate และ Acute ฐานใบเป็นแบบ Cuneate และ Acute ใบมีสีเขียว G137A และ G139A ส่วนลักษณะทรงผลพันธุ์สีทอง น้ำตาลกรวด ลูกผสมพลิ้ว 5 และ 7 มีทรงผลแบบ Globose ขณะที่พันธุ์โรงเรียน สีชมพู ลูกผสมพลิ้ว 1, 2, 3, 4, 6 และ 8 มีทรงผลแบบ Ovoid และพันธุ์บางยี่ขัน และเจ๊ะมง มีทรงผลแบบ Oblong สีผิวผลอยู่ในกลุ่มสีเหลืองส้ม และสีส้ม ส่วนลักษณะสีขนอยู่ในกลุ่มสีแดงชมพู ยกเว้นพันธุ์น้ำตาลกรวดที่มีผิวผลสีเหลือง ส่วนสีปลายขนอยู่ในกลุ่มสีเหลืองเขียว ลักษณะเนื้อเงาะสีขาวขุ่น ความล่อนของเนื้อจากเมล็ดอยู่ในระดับน้อย - มาก ลักษณะเมล็ดเป็น Obovoid และ Obovoid elongate สีเมล็ดด้านในอยู่ในกลุ่มสีเหลืองเขียว ดังนั้นพันธุ์ลูกผสมพลิ้ว3 จึงเป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับผลิตเพื่อการรับประทานผลสด เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนพันธุ์โรงเรียน 14 - 20 วัน ติดผลได้ดี และให้ผลผลิตเท่ากับ 170.2 กิโลกรัม/ต้น ลักษณะรูปร่างผล และมีสีผล คล้ายพันธุ์โรงเรียน มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวซึ่งยังด้อยกว่าพันธุ์โรงเรียน ขณะที่พันธุ์สีทอง ลูกผสมพลิ้ว 4 และ 7 เหมาะสำหรับการแปรรูปเนื่องจากมีเนื้อหนา และเปลือกบาง สำหรับการทดสอบพันธุ์เงาะในภาคเหนือ จ.เชียงราย พบว่าเงาะพันธุ์สีทองมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด รองมาคือ พันธุ์โรงเรียน และแดงจันทบูร ส่วนพันธุ์พลิ้ว3 มีอัตราการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่ำสุด เริ่มออกดอกครั้งแรกหลังปลูก 4 ปี และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งจะไม่ตรงกับแหล่งผลิตในภาคตะวันออกและภาคใต้ จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถกระจายการผลิตเงาะได้

          การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพื่อควบคุมการออกดอกของเงาะพันธุ์โรงเรียน ในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดเชียงราย พบว่าการใช้สารเมบิควอทคลอไรด์ เอทธีฟอน และพาโคลบิวทราโซล ป้ายที่กิ่งหลักของเงาะในช่วงก่อนการออกดอก 2 เดือน มีผลในการควบคุมการออกดอกของเงาะเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยจะออกดอกก่อนกรรมวิธีที่ไม่ป้ายสาร 4 - 8 วัน และในบางปีก็ไม่แตกต่างกับกรรมวิธีที่ไม่ป้ายสารฯ ส่วนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษพบว่า การใช้สารเมบิควอทคลอไรด์ที่ 3% มีแนวโน้มช่วยทำให้เงาะออกดอกก่อนการไม่ป้ายสาร โดยเปอร์เซ็นต์การออกดอก ผลผลิตและคุณภาพผลของทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกัน การจัดการช่อและการตัดแต่งช่อผลให้เหลือ 8 ผล/ช่อ ให้ผลเงาะที่มีน้ำหนักมากที่สุด มีจำนวนผล 25 ผล/กิโลกรัม จัดอยู่ในขนาดที่ 1 การตัดแต่งช่อผลให้เหลือ 12 และ 15 ผล/ช่อ และตัดช่อผล 1/3 ของความยาวช่อ มีจำนวนผล 27 ผล/กิโลกรัม จัดอยู่ในขนาดที่ 2 ในขณะที่กรรมวิธีควบคุมมีจำนวนผล 30 ผล/กิโลกรัม จัดอยู่ในขนาดที่ 3 ดังนั้นการจัดการช่อโดยการตัดแต่งช่อผลให้ผลผลิตเงาะที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานการส่งออกสูงกว่าการไม่มีการจัดการช่อผล การศึกษาการตัดแต่งกิ่งเงาะพันธุ์โรงเรียนในปี 2555 พบว่า ต้นเงาะที่ตัดแต่งกิ่งแบบหนักและควบคุมความสูงต้น 3 เมตร และการตัดแต่งกิ่งตามวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติ ต้นเงาะสามารถแทงช่อดอกได้เร็ว และมีปริมาณผลผลิตเท่ากับ 124.0 และ 120.0 กก./ต้น แต่การตัดแต่งกิ่งตามวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติ มีเปอร์เซ็นต์ผลผลิตตกเกรดสูงกว่าเท่ากับ 34.8 และ 7.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในปี 2556 พบว่า การตัดแต่งกิ่งที่ความสูง 3 เมตร ให้ผลผลิตสูงสุด 117.20 กิโลกรัม/ต้น โดยแบ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติของเงาะ ตามชั้นคุณภาพเป็น 3 ชั้น คือ เป็นผลผลิตชั้นพิเศษ ชั้นหนึ่ง และชั้นสอง เท่ากับ 32.22, 33.79 และ 24.97 กิโลกรัม/ต้น และไม่พบความแตกต่างทางสถิติของปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำได้ (TSS) และความหนาเนื้อ


ไฟล์แนบ
.pdf   80_2558.pdf (ขนาด: 1.54 MB / ดาวน์โหลด: 3,203)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม