11-16-2016, 09:35 AM
การศึกษาศักยภาพการรับไนโตรเจนทางชีวภาพ กลุ่มแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนที่สำคัญ และปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนกับอ้อย
กัลยกร โปร่งจันทึก, พงศกร สรรค์วิทยากุล, อรุโณทัย ซาววา, อรัญญ์ ขันติยวิชย์, อุชฎา สุขจันทร์, มนต์ชัย มนัสสิลา, ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง และประไพ ทองระอา
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
กัลยกร โปร่งจันทึก, พงศกร สรรค์วิทยากุล, อรุโณทัย ซาววา, อรัญญ์ ขันติยวิชย์, อุชฎา สุขจันทร์, มนต์ชัย มนัสสิลา, ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง และประไพ ทองระอา
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
ในการผลิตอ้อยพบว่าอ้อยมีการตอบสนองต่อไนโตรเจนในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จนทำให้ไทยต้องมีต้นทุนในการนำเข้าปุ๋ยเคมีไนโตรเจนเพื่อการผลิตเป็นจำนวนมากในอนาคต จากรายงานการผลิตอ้อยในบราซิลหลังทำการวิจัยประมาณ 15 ปี พบว่ามีพันธุ์อ้อยสายพันธุ์บราซิลบางสายพันธุ์ที่สามารถรับไนโตรเจนจากการตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทั้งนี้เพราะความสัมพันธ์กันระหว่างสายพันธุ์อ้อยและชนิดจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในต้นอ้อย วัตถุประสงค์ของการทดลองนี้ เพื่อให้ได้สายพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพในการรับไนโตรเจนจากการตรึงไนโตรเจนโดยแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนที่อาศัยอยู่กับอ้อย ทำการศึกษาในอ้อยพันธุ์ไทยที่นิยมปลูก 5 สายพันธุ์ คือ ขอนแก่น 3 อู่ทอง 84-12 สอน.92-11 สอน.88-92 และสอน.95-84 เปรียบเทียบกับอ้อยสายพันธุ์บราซิล Sp70-1284 หญ้าเนเปียร์ปากช่อง อ้อยป่า TH99-132 (Saccharum spontaneum) และหญ้ากินนี้สีม่วง โดยศึกษาการเจริญเติบโตในสภาพแปลงไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนเป็นเวลา 2 ปี (อ้อยปลูก และอ้อยตอ 1) ผลการทดลองพบว่า อ้อยสายพันธุ์ไทยมีการเจริญเติบโตค่อนข้างดีและใกล้เคียงกัน ส่วนหญ้าเนเปียร์ปากช่อง และอ้อยป่ามีการเจริญเติบโตดีที่สุด ส่วนการศึกษาการใช้ไนโตรเจนที่ตรึงจากอากาศแบบชีววิธี อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 และพันธุ์อู่ทอง 84-12 สามารถใช้ไนโตรเจนที่ตรึงจากอากาศแบบชีววิธีได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอ้อยสายพันธุ์บราซิล
การศึกษาลักษณะกลุ่มและปริมาณประชากรของแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนในอ้อยพันธุ์ไทยโดยเทคนิค Real-Time PCR ทำการศึกษาในอ้อยพันธุ์ไทยที่นิยมปลูก 5 สายพันธุ์ คือ ขอนแก่น 3 อู่ทอง 84-12 สอน.92-11 สอน.88-92 สอน.95-84 อ้อยสายพันธุ์บราซิล (Sp70-1284) หญ้าเนเปียปากช่อง อ้อยป่า TH99-132 (S. spontaneum) และหญ้ากินนี้สีม่วง โดยศึกษาการ Colonization ของแบคทีเรีย ผลการทดลองพบว่า มีการโคโลไนซ์ของแบคทีเรียอย่างน้อย 2 ชนิด ในใบและลำต้นอ้อย พบ Gluconacetobacter diazotrophicus ในใบของอ้อยพันธุ์บราซิล พบ Azospirillum brasilense ในลำต้นอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 สอน.92-11 สอน.88-92 สอน.95-84 พันธุ์บราซิล และอ้อยป่า และพบ Herbaspirillum seropedicae ในลำต้นอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 สอน.92-11 สอน.88-92 สอน.95-84 พันธุ์บราซิล อ้อยป่าและหญ้ากินนี้สีม่วง นอกจากนี้ยังพบ A. brasilense และ H. seropedicae ในบริเวณ rhizosphere ของอ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 แต่ไม่พบในลำต้น จึงอาจสรุปได้ว่าลำต้นอ้อยสายพันธุ์อู่ทอง 84-12 ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของแบคทีเรียดังกล่าว แต่อาจมีระบบที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยบริเวณรากและ rhizosphere
ยีน SHR5-receptor-like kinase อยู่ในกลุ่ม Receptor protein kinases (RPKs) เป็นส่วนประกอบของระบบการส่งถ่ายสัญญาณระหว่างเซลล์ ทำให้เซลล์สามารถจดจำ เกิดการปฏิสัมพันธ์ และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมภายนอกระหว่างเซลล์ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเจริญเติบโต ระบบการต้านทานของพืช และการตอบสนองต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ซึ่งในอ้อยการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างพืชกับแบคทีเรีย endophytic ทำให้ยีน SHR5 เกิดการ down-regulated งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาการแสดงออกของยีน SHR5 ในอ้อยสายพันธุ์ไทยทั้งในสภาพโรงเรือนและสภาพแปลงปลูก ในสภาพโรงเรือนใช้อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 พบว่า การแสดงออกของยีน SHR5 ในกรรมวิธีที่ 2 การเติมเชื้อ G. diazotrophicus มีค่ามากสุดเท่ากับ 1.82 และกรรมวิธีที่ 6 เติม G. diazotrophicus และ Azospirillum spp. มีการแสดงออกน้อยสุดเท่ากับ 0.31 ซึ่งต่ำกว่าชุดควบคุมแต่ทั้ง 8 กรรมวิธี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของการแสดงออกของยีน สำหรับการศึกษาในสภาพแปลงปลูกของอ้อย ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 3 พันธุ์อู่ทอง 84-12 พันธุ์สอน.92-11 พันธุ์สอน.88-92 พันธุ์สอน.95-84 พันธุ์บราซิล Sp70-1284 พันธุ์ป่า Th99-132 (Saccharum Spontaneum) พันธุ์อู่ทองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ร่วมกับหญ้าเนเปียร์ และหญ้ากินนี้สีม่วง โดยมีพันธุ์ขอนแก่น 3 เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นชุดควบคุม พบว่าการแสดงออกของยีน SbSHR5 เกิดการ up-regulated ในอ้อยพันธุ์สอน.88-92 และอ้อยพันธุ์สอน.95-84 เมื่ออายุ 2 เดือน และในอ้อยพันธุ์ สอน.95-84 เมื่ออายุ 4 เดือน และทุกกรรมวิธีในสภาพแปลงปลูกมีค่าการแสดงออกมากกว่าค่าควบคุม
จากผลการทดลองทั้งหมดทำให้สามารถสรุปได้ว่าอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นอ้อยสายพันธุ์ไทยที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศโดยชีววิธี โดย A. brasilense และ H. seropedicae ที่อาศัยอยู่ในลำต้นอ้อย