วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตบัวบก
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตบัวบก
ประนอม ใจอ้าย

          เทคโนโลยีการผลิตบัวบกประกอบด้วย การคัดเลือกพันธุ์บัวบกที่ให้ผลผลิตและสารสำคัญสูง ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง วางแผนการทดลองแบบ RCB ประกอบด้วย 3 ซ้ำ มี 8 กรรมวิธี ได้แก่ พันธุ์บัวบกจำนวน 8 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ระยอง เพชรบุรี จันทบุรี พะเยา ตราด นครปฐม เชียงราย และราชบุรี ในโรงเรือนพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ บันทึกการเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยวผลผลิตอายุ 80 - 85 วัน ส่งตัวอย่างบัวบกวิเคราะห์สารสำคัญ การศึกษาการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้และโรคโคนเน่าบัวบกโดยการใช้เชื้อรา Trichoderma harzianum เชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis น้ำหมักชีวภาพร่วมกับเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ทั้ง 2 ชนิด และสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เปรียบเทียบกับการไม่ใส่กรรมวิธี และทำการการทดสอบในสภาพแปลงของเกษตรกร ที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนครปฐม โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB มี 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ได้แก่ การฉีดพ่นไคโตซาน เชื้อปฏิปักษ์ Trichoderma harzianum น้ำหมักชีวภาพ เชื้อราปฏิปักษ์ Baciilus subtilis และฉีดพ่นน้ำเปล่า บันทึกการเกิดโรค และข้อมูลการเจริญเติบโต และศึกษาวิธีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบัวบกโดยใช้สารธรรมชาติ วางแผนการทดลองแบบ RCB ประกอบด้วย 4 ซ้ำ 7 กรรมวิธี ได้แก่ ฉีดพ่นสารสกัดสะเดา สารสกัดหนอนตายอยาก สารสกัดตะไคร้หอม สารไคโตซาน น้ำส้มควันไม้ สารปิโตรเลี่ยมสเปรย์ออยล์ และไม่พ่นสารป้องกันกำจัดแมลง สำรวจแมลงศัตรูบัวบกและศัตรูชนิดอื่นๆ ก่อนฉีดพ่นสารธรรมชาติตามกรรมวิธี 1 วัน และหลังฉีดพ่นสาร 3 และ 5 วัน ทำการฉีดพ่นสารตามกรรมวิธีทุก 15 วัน เก็บเกี่ยวบัวบกเมื่ออายุ 85 วัน บันทึก ลักษณะอาการที่ถูกแมลงเข้าทำลาย ข้อมูลผลผลิต สุ่มเก็บตัวอย่างบัวบกสด ส่งตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ E. และส่งตัวอย่างบัวบกแห้งวิเคราะห์โลหะหนัก และทดสอบการป้องกันกำจัดแมลง 2 วิธี คือ วิธีของเกษตรกรไม่ได้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง และวิธีทดสอบป้องกันกำจัดแมลงโดยวิธีผสมผสาน ผลการทดลองพบว่า ผลผลิตบัวบกสดต่อไร่เฉลี่ย 800 - 1,789 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมากที่สุด คือ สายพันธุ์พันธุ์ตราด รองลงมา ได้แก่ เชียงราย พะเยา เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี ระยอง จันทบุรี ตามลำดับ สายพันธุ์ที่มีปริมาณสาร Asiaticcoside สูงที่สุด คือ ระยอง มีสาร Asiaticcoside เฉลี่ย 0.59 % ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสมุนไพรไทยที่ระบุไว้ไม่ต่ำกว่า 0.5% รองลงมา ได้แก่ สายพันธุ์พะเยา ราชบุรี ตราด เชียงราย เพชรบุรี จันทบุรี นครปฐม และเลย ตามลำดับ เปอร์เซ็นต์การเกิดโรคใบจุดไหม้พบว่า การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ 16.71 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ การใช้เชื้อ Bacillus subtilis, กรรมวิธีควบคุม และน้ำหมักชีวภาพ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเฉลี่ย 17.86, 27.28 และ 28.58 เปอร์เซ็นต์ ศึกษาวิธีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบัวบกโดยใช้สารพบว่า แปลงบัวบกที่มีการควบคุมแมลงศัตรูบัวบกด้วยการฉีดพ่นสารสกัดสะเดา น้ำส้มควันไม้ สารสกัดหนอนตายอยาก สารสกัดตะไคร้หอม สารไคโตซาน สารปิโตรเลี่ยมสเปรย์ออยล์ ทุก 2 สัปดาห์ และแปลงที่ไม่มีการฉีดพ่นสารดังกล่าว ให้ผลในการควบคุมไม่แตกต่างกัน และการปลูกบัวบกในแปลงเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดแพร่ ไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ในช่วงฤดูหนาวมีแมลงศัตรูบัวบกน้อยกว่า ในช่วงฤดูฝนพบหนอนกระทู้ผัก เพลี้ยกระโดด การป้องกันกำจัดโดยใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง จำนวน 80 กับดักต่อไร่ และฉีดพ่นน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์วันละ 2 ครั้งๆ ละ 1 ชั่วโมง ในตอนเช้าและตอนเย็น ช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูบัวบกได้ หากพบเริ่มมีการระบาดฉีดพ่นสารสะเดา ปริมาณแมลงทั้ง 2 ชนิดลดลง เฉลี่ย 36.50 - 54.22 เปอร์เซ็นต์

1. การคัดเลือกพันธุ์บัวบกที่ให้ผลผลิตและสารสำคัญสูง ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง 
ประนอม ใจอ้าย, แสงมณี ชิงดวง, มณทิรา ภูติวรนาถ, พรรณพิมล สุริยะพรหมชัย, คณิศร มนุษย์สม และสากล มีสุข

          การคัดเลือกพันธุ์บัวบกที่ให้ผลผลิตและสารสำคัญสูงในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อคัดเลือกหาสายพันธุ์บัวบกที่ให้ผลผลิต สารสำคัญสูง และเหมาะสมสำหรับการปลูกใน โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB ประกอบด้วย 3 ซ้ำ มี 8 กรรมวิธี ได้แก่ พันธุ์บัวบกจำนวน 8 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ระยอง เพชรบุรี จันทบุรี พะเยา ตราด นครปฐม เชียงราย และราชบุรี เตรียมแปลงปลูก ขนาด 2x3 เมตร จำนวน 30 แปลง ในโรงเรือนพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร สูง 2.50 เมตร ปลูกบัวบกในแปลงย่อยในฤดูหนาว บันทึกการเจริญเติบโตเมื่ออายุ 1, 2 เดือน กำจัดวัชพืช และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง การเจริญเติบโตของบัวบกเมื่ออายุ 30 และ 60 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่ออายุ 80 - 85 วัน ส่งตัวอย่างบัวบกอบแห้งวิเคราะห์สารสำคัญ ผลผลิตบัวบกสดต่อไร่เฉลี่ย 800 - 1,789 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมากที่สุด คือ พันธุ์ตราด รองลงมา ได้แก่ พันธุ์เชียงราย พะเยา เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี ระยอง จันทบุรี ตามลำดับ ผลผลิตบัวบกที่ล้างให้สะอาด หั่นให้ละเอียด แล้วอบที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส และส่งวิเคราะห์ปริมาณสาระสำคัญที่ห้องปฏิบัติการ องค์การเภสัช กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กรุงเทพฯ พบว่าพันธุ์ที่มีปริมาณสาร Asiaticcoside สูงที่สุด คือ พันธุ์ระยอง มีสาร Asiaticcoside เฉลี่ย 0.59% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสมุนไพรไทยที่ระบุไว้ไม่ต่ำกว่า 0.5% รองลงมา ได้แก่ สายพันธุ์พะเยา ราชบุรี ตราด เชียงราย เพชรบุรี จันทบุรี นครปฐม และเลย ตามลำดับ

2. ศึกษาการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้และโรคโคนเน่าบัวบก
แสงมณี ชิงดวง, ประนอมใจอ้าย, สุนิตรา คามีศักดิ์ และไพโรจน์ อ่อนบุญ

          บัวบกเป็นพืชที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และได้มีการเข้าทำลายของโรคใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อรา Cercospora sp ทำให้ใบมีลักษณะเป็นจุดและไหม้กับโรคโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii ทำให้โคนต้นเหลืองและตาย สร้างความเสียหายกับเกษตรกรเป็นอย่างมาก ปีงบประมาณ 2555 จึงได้มีการศึกษาการควบคุมโรคใบไหม้ด้วยการใช้ Bacillus subtilis น้ำหมักชีวภาพ สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช (คาร์เบนดาซิม) และวิธีควบคุมพบว่า ด้านการเจริญเติบโตของบัวบกทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคน้อยที่สุด 16.71% รองลงคือ Bacillus subtilis 17.86% ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่แตกต่างกับกรรมวิธีควบคุม และการใช้น้ำหมักชีวภาพ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรค 27.28 และ 28.58% ตามลำดับ ผลผลิตพบว่า การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชให้ผลผลิตมากที่สุด 1.13 ตัน/ไร่ รองลงคือ Bacillus subtilis 1.12 ตัน/ไร่ ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่แตกต่างกับกรรมวิธีควบคุม และการใช้น้ำหมักชีวภาพให้ผลผลิต 0.97 และ 0.94 ตัน/ไร่ ตามลำดับ ปีงบประมาณ 2556 จึงได้มีการศึกษาการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่า ด้วยการใช้ Bacillus subtilis Trichoderma harzianum น้ำหมักชีวภาพ ไคโตซาน และกรรมวิธีควบคุม (control) พบว่า ด้านการเจริญเติบโตของบัวบกทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเก็บรวบรวมข้อมูล

3. ศึกษาการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบัวบกที่ถูกต้องและเหมาะสมในแหล่งปลูก
ประนอม ใจอ้าย, มณทิรา ภูติวรนาถ, พรรณพิมล สุริยะพรหมชัย, สุทธินี เจริญคิด, สมศรี ปะละใจ และสากล มีสุข

          ศึกษาวิธีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูบัวบกโดยใช้สารธรรมชาติ โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Desige (RCBD) ประกอบด้วย 4 ซ้ำ 7 กรรมวิธี ได้แก่ ฉีดพ่นสารสกัดสะเดา สารสกัดหนอนตายอยาก สารสกัดตะไคร้หอม สารไคโตซาน น้ำส้มควันไม้ สารปิโตรเลี่ยมสเปรย์ออยล์ และไม่พ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เตรียมแปลงปลูกขนาด 2x3 เมตร จำนวน 28 แปลง เตรียมต้นพันธุ์บัวบกโดยนำต้นจากไหลมาเพาะในถาดหลุมๆ ละ 2 ต้น เมื่ออายุได้ 1 เดือน นำลงปลูกในแปลง จำนวน 60 หลุมต่อแปลง เตรียมเมล็ดสะเดาแห้งบดละเอียด เหง้าหนอนตายอยากสด 1 กิโลกรัม ลำต้นและใบตะไคร้หอมสด 1 กิโลกรัม แยกใส่ถังแช่น้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอากากออก ผสมสารจับเสริมประสิทธิภาพ นำไปฉีดพ่นบัวบก ไคโตรซาน และน้ำส้มควันไม้ อัตรา 28 มิลลิลิตร และปิโตรเลี่ยมสเปรย์ออยล์อัตรา 60 มิมลลิเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนแปลงควบคุมฉีดพ่นน้ำเปล่า สำรวจแมลงศัตรูบัวบกและศัตรูชนิดอื่นๆ ก่อนฉีดพ่นสารธรรมชาติตามกรรมวิธี 1 วัน และหลังฉีดพ่นสาร 3 และ 5 วัน ทำการฉีดพ่นสารตามกรรมวิธีทุก 15 วัน เก็บเกี่ยวบัวบกเมื่ออายุ 85 วัน บันทึก ลักษณะอาการที่ถูกแมลงเข้าทำลาย ข้อมูลผลผลิต ได้แก่ จำนวนต้นต่อ 1 ตารางเมตร น้ำหนักสดและแห้ง สุ่มเก็บตัวอย่างบัวบกสด ส่งตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ E. coli ที่อาจปนเปื้อนบนตัวอย่างบัวบก และส่งตัวอย่างบัวบกแห้งวิเคราะห์โลหะหนัก รวมรวบข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ และทดสอบการป้องกันกำจัดแมลง 2 วิธี คือ วิธีของเกษตรกรไม่ได้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง และวิธีทดสอบป้องกันกำจัดแมลงโดยวิธีผสมผสาน โดยดำเนินการในพื้นที่เกษตรกร ประเมินการระบาดของแมลงพบว่า แปลงบัวบกที่มีการควบคุมแมลงศัตรูบัวบกด้วยการฉีดพ่นสารสกัดสะเดา น้ำส้มควันไม้ สารสกัดหนอนตายอยาก สารสกัดตะไคร้หอม สารไคโตซาน สารปิโตรเลี่ยมสเปรย์ออยล์ ทุก 2 สัปดาห์ และแปลงที่ไม่มีการฉีดพ่นสารดังกล่าว ให้ผลในการควบคุมไม่แตกต่างกัน และการปลูกบัวบกในแปลงเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดแพร่ ไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ในช่วงฤดูหนาวมีแมลงศัตรูบัวบกน้อยกว่าในช่วงฤดูฝนพบหนอนกระทู้ผัก เพลี้ยกระโดด การป้องกันกำจัดโดยใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง จำนวน 80 กับดักต่อไร่ และฉีดพ่นน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์วันละ 2 ครั้งๆ ละ 1 ชั่วโมง ในตอนเช้าและตอนเย็น ช่วยลดการระบาดของแมลงศัตรูบัวบกได้ หากพบเริ่มมีการระบาดฉีดพ่นสารสะเดา ที่ได้จากการนำเมล็ดสะเดาแห้งบดให้ละเอียด อัตรา 1 กิโลกรัม แช่น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในตอนเย็นพบปริมาณของแมลงทั้ง 2 ชนิด ลดลงเฉลี่ย 36.50 - 54.22 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   305_2556.pdf (ขนาด: 1.38 MB / ดาวน์โหลด: 26,017)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม