เทคโนโลยีการผลิตมันฝรั่งที่มีคุณภาพ
#1
เทคโนโลยีการผลิตมันฝรั่งที่มีคุณภาพ
รุ่งทิวา ดารักษ์, จารุฉัตร เขนยทิพย์, วิวัฒน์ ภาณุอำไพ, สมชาย บุญประดับ, ธำรง ช่วยเจริญ, ประยูร สมฤทธิ์ และสมคิด รัตนบุรี
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่, สำนักผู้เชี่ยวชาญ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2

          ศึกษาผลของการให้น้ำที่มีต่อการเกิดไส้กลวงในหัวมันฝรั่ง วางแผนการทดลองแบบ split plot in RCB มี 4 ซ้ำ กรรมวิธีทดลองประกอบด้วย main plot เป็นช่วงเวลาหรือความถี่ของการให้น้ำเมื่อมีการระเหยของน้ำสะสมถึง 30 และ 60 มิลลิเมตร sub-plot เป็นอัตราหรือปริมาณการให้น้ าที่ 20%, 40%, 60% และ 80% ของค่าการระเหยน้ำสะสม 45 มิลลิเมตร หรือคิดเป็นอัตราการให้น้ำครั้งละ 9 18 27 และ 36 มิลลิเมตร ตามลำดับ

          ทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก อ.เมือง จ .ตาก ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2554 - 2555 ผลการทดลองพบว่า การให้น้ำกับมันฝรั่งพันธุ์แอตแลนติก เมื่อมีการระเหยน้ำสะสมถึง 30 มิลลิเมตร จะให้ผลผลิตสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการให้น้ำเมื่อมีการระเหยน้ำสะสมที่ 60 มิลลิเมตร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อัตราของน้ำที่ให้แต่ละครั้งพบว่า ให้น้ำอัตรา 80% ของค่าการระเหยน้ำสะสม 45 มิลลิเมตร หรือ ครั้งละ 36 มิลลิเมตร ให้ผลผลิตสูงสุด แตกต่างทางสถิติกับอัตรา 60 และ 40 % ของค่าการระเหยน้ำสะสม 45 มิลลิเมตรหรือให้น้ำเท่ากับ 27 และ 18 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่วนการให้น้ำที่อัตรา 20 % ของค่าการระเหยน้ำสะสม 45 มิลลิเมตร หรือคิดเป็น 9 มิลลิเมตรต่อครั้งจะให้ผลผลิตต่ำสุด ช่วงเวลาและอัตราการให้น้ำไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน

          ทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2554 - 2555 ผลการทดลองพบว่า การให้น้ำกับมันฝรั่งพันธุ์แอตแลนติก เมื่อมีการระเหยน้ำสะสมถึง 30 มิลลิเมตร จะให้ผลผลิตสูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้น้ำเมื่อมีการระเหยน้ำสะสมที่ 60 มิลลิเมตร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อัตราของน้ำที่ให้แต่ละครั้งพบว่า ให้น้ำอัตรา 80% ของค่าการระเหยน้ำสะสม 45 มิลลิเมตร หรือครั้งละ 36 มิลลิเมตร ให้ผลผลิตสูงสุด แต่ไม่แตกต่างทางสถิติกับอัตรา 60 และ 40% ของค่าการระเหยน้ำสะสม 45 มิลลิเมตรหรือให้น้ำเท่ากับ 27 และ 18 มิลลิเมตร ตามลำดับส่วนการให้น้ำที่อัตรา 20% ของค่าการระเหยน้ำสะสม 45 มิลลิเมตร หรือคิดเป็น 9 มิลลิเมตรต่อครั้งจะให้ผลผลิตต่ำสุด ช่วงเวลาและอัตราการให้น้ำไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน จากการสุ่มตัวอย่างตรวจดูการเกิดไส้กลวงในหัวมันฝรั่งของทุกกรรมวิธีทดลองการให้น้ำทั้งสองสถานที่ทดลองไม่ปรากฏพบการเกิดไส้กลวงแต่อย่างใด

          ศึกษาผลของการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่มีต่อการเกิดไส้กลวงในมันฝรั่ง วางแผนการทดลองแบบ 3 x 4+1 Factorial in RCB มี 3 ซ้ำ 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่ 1 เป็นอัตราการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมี 3 อัตรา คือ 10 , 20 และ 30 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจัยที่ 2 เป็นช่วงเวลาการใส่ปุ๋ยมี 4 ช่วงเวลา คือ ใส่ปุ๋ย 1 ครั้งรองพื้นก่อนปลูก ใส่ปุ๋ย 1 ครั้งเมื่อต้นมันฝรั่งอายุได้ 3 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง รองพื้นและที่อายุ 3 สัปดาห์ กับใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง รองพื้นและช่วงอายุ 3 และ 6 สัปดาห์ บวกกรรมวิธีควบคุม (check) ไม่มีการใส่ปุ๋ย

          ทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก ตั้งแต่ปี 2554 – 2555 ผลการทดลองปี 2554 พบว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราและช่วงเวลาต่างๆ ให้ผลผลิตมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งผลผลิตรวมและผลผลิตหัวใหญ่ที่สามารถขายส่งเข้าโรงงานแปรรูป การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตสูงสุด โดยได้ผลผลิตรวมที่ 2,451.6 กิโลกรัมต่อไร่ และเป็นผลผลิตหัวใหญ่ 1,579.7 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตต่ำสุดโดยได้ผลผลิตรวม 2,158.3 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตหัวใหญ่ 1,434.3 กิโลกรัมต่อไร่ ปี 2555 ผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตราต่างๆ ให้ผลผลิตแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตสูงสุด โดยได้ผลผลิตรวมที่ 2,437.6 กิโลกรัมต่อไร่ และเป็นผลผลิตหัวใหญ่ 1,553.8 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตต่ำสุด โดยได้ผลผลิตรวม 2,125.6 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตหัวใหญ่ 1,420.4 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ผลผลิตไม่แตกต่างทางสถิติกับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งให้ผลผลิตรวม 2,125.6 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตหัวใหญ่ 1,420.4 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงเวลาการใส่ปุ๋ยให้ผลผลิตแตกต่างกันทางสถิติทุกอัตราปุ๋ย ช่วงเวลาการใส่ 3 ครั้ง ให้ผลผลิตรวม และผลผลิตหัวใหญ่สูงกว่าช่วงการใส่ปุ๋ยอื่น และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับอัตราการใส่ปุ๋ย จากการเปรียบเทียบกรรมวิธีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนกับกรรมวิธีควบคุมไม่ใส่ปุ๋ยพบว่า ให้ผลผลิตรวมแตกต่างกันทางสถิติ แต่กรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้ผลผลิตที่เป็นหัวใหญ่มากกว่ากรรมวิธีไม่ใส่ปุ๋ย แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

          ทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2554 – 2555 ผลการทดลองปี 2554 พบว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราและช่วงเวลาต่างๆ ได้แก่ มันฝรั่งพันธุ์แอตแลนติก ให้ผลผลิตไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ทั้งผลผลิตรวมและผลผลิตหัวใหญ่ที่สามารถขายส่งเข้าโรงงานแปรรูป เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคใบไหม้ (Late blight) ทำความเสียหายให้กับมันฝรั่งทุกกรรมวิธีทดลองปี 2555 ผลการทดลองพบว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตราต่างๆ ให้ผลผลิตแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตสูงสุด โดยได้ผลผลิตรวมที่ 2,493.06 กิโลกรัมต่อไร่ และเป็นผลผลิตหัวใหญ่ 2,101.39 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตต่ำสุดโดยได้ผลผลิตรวม 2,037.50 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตหัวใหญ่ 1,861.11 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ผลผลิตไม่แตกต่างทางสถิติกับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งให้ผลผลิตรวม 2,268.06 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตหัวใหญ่ 1,934.68 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงเวลาการใส่ปุ๋ยให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันทางสถิติ และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับอัตราการใส่ปุ๋ย จากการเปรียบเทียบกรรมวิธีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนกับกรรมวิธีควบคุมไม่ใส่ปุ๋ย พบว่าให้ผลผลิตรวมไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่กรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้ผลผลิตที่เป็นหัวใหญ่มากกว่ากรรมวิธีไม่ใส่ปุ๋ย แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการสุ่มตัวอย่างหัวมันฝรั่งมาตรวจดูการเกิดไส้กลวง ปรากฏว่าไม่พบอาการไส้กลวงในทุกกรรมวิธีทดลอง


ไฟล์แนบ
.pdf   16_2555.pdf (ขนาด: 348.62 KB / ดาวน์โหลด: 1,479)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม