08-03-2016, 03:37 PM
การเพิ่มความสามารถในการไว้ตอของชาวไร่อ้อยขนาดเล็กโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม
ปรีชา กาเพ็ชร และทักษิณา ศันสยะวิชัย
ปรีชา กาเพ็ชร และทักษิณา ศันสยะวิชัย
การที่ปลูกอ้อยแล้วสามารถไว้ตอได้ถือเป็นกำไรของชาวไร่อ้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยตอต่ำกว่าอ้อยปลูกมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ไม่สามารถไว้ตอได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายๆ ประการ จึงได้ทำการศึกษาการไว้ตอของอ้อยโดยให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น เพื่อสามารถนำไปใช้ได้ในพื้นที่จริงๆ พื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยในหมู่บ้านท่อนน้อย ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สำรวจข้อมูลการผลิตอ้อยและการไว้ตอเบื้องต้นจากเกษตรกรจำนวน 20 ราย พบว่าปัญหาการไว้ตอของเกษตรกรเนื่องมาจากความไม่เหมาะสมของดิน ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และอ้อยเป็นโรคใบขาว ได้ดำเนินการวางแผนเก็บข้อมูลทดสอบกับปัญหาดังกล่าว ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศช่วยในการพิจาณาเลือกแปลงทดสอบให้มีความแตกต่างกันของลักษณะดิน ความสูงจากระดับน้ำทะเล และเลือกแปลงที่มีความแตกต่างกันของพันธุ์อ้อยและสถานะอ้อย
ผลการทดลองพบว่า เกษตรกรสามารถไว้ตออ้อยได้เพียง 1 ถึง 2 ตอ ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ไม่สามารถไว้ตอได้ได้แก่การขาดความชื้นในดิน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผลจาการเก็บข้อมูลยืนยันได้ว่าเกษตรกรสามารถไว้ตอได้มากกว่า 3 ตอ หากพื้นที่นั้นมีความชื้นเพียงพอ โดยแนวทางการแก้ไขปัญหา คือการบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และให้น้ำเสริม ซึ่งเกษตรกรที่ร่วมทำงานสามารถรู้ถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขได้ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของพื้นที่ทำกิน และข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคม