08-03-2016, 03:26 PM
การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีธรรมชาติ
ปริญญา สีบุญเรือง, สุริพัฒน์ ไทยเทศ, อมรา ไตรศิริ และศิวิไล ลาภบรรจบ
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ชัยนาท
ปริญญา สีบุญเรือง, สุริพัฒน์ ไทยเทศ, อมรา ไตรศิริ และศิวิไล ลาภบรรจบ
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ชัยนาท
การพัฒนาพันธุ์ฝ้ายให้มีเส้นใยสีธรรมชาติ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตฝ้ายและยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการฟอกย้อม ดังนั้น จึงทำการผสมพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 2 กับพันธุ์ฝ้ายเส้นใยสีเขียว ในปี 2543 และทำการผสมกลับ 4 ชั่ว ระหว่างปี 2544 - 2545 โดยในการผสมกลับแต่ละครั้งทำการเก็บรวมเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียว จากนั้นทำการปลูก BC4F1 ในปี 2546 แล้วทำการเก็บรวมเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียว แล้วนำไปปลูกเป็น BC4F2 ในปี 2547 สามารถคัดเลือก และเก็บเมล็ดรายต้นเฉพาะต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียวจำนวน 574 ต้น แล้วจึงนำมาปลูกคัดเลือกแบบต้นต่อแถวในชั่วที่ BC4F3 เมื่อปี 2548 สามารถคัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตสูงคุณภาพเส้นใยดีและมีสีเขียวได้ 66 ต้น จาก 30 แถว จึงทำการปลูกคัดเลือกแบบต้นต่อแถวในปี 2549 ในชั่วที่ BC4F4 จำนวน 66 แถว และปลูกคัดเลือกแบบสมอต่อแถว จำนวน 90 แถว แล้วคัดเลือกแถว ที่มีทรงต้นโปร่งมีความสม่ำเสมอที่ดีและมีเส้นใยสีเขียวได้ 27 สายพันธุ์ จึงได้นำไปปลูกคัดเลือกในชั่วที่ BC4F5 ปี 2550 โดยสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ ที่มีทรงต้นโปร่งและมีความสม่ำเสมอที่ดี ตลอดจนมีเส้นใยสีเขียวได้ 20 สายพันธุ์ โดยมีค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์หีบ 24.4 เปอร์เซ็นต์ ความยาวเส้นใยเฉลี่ย 1.20 นิ้ว ความเหนียวเฉลี่ย 22.5 กรัมต่อเท็กซ์ ความสม่ำเสมอเฉลี่ย 49 และความละเอียดอ่อนเฉลี่ย 2.0 ซึ่งได้นำสายพันธุ์ดังกล่าว ไปทำการประเมินผลผลิตในปี 2551