มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 : พันธุ์ปริมาณแป้งสูงเพื่อผลิตเอทานอล
#1
มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 : พันธุ์ปริมาณแป้งสูงเพื่อผลิตเอทานอล
อัจฉรา ลิ่มศิลา, ดนัย ศุภาหาร, จรุงสิทธิ์ ลิ่มศิลา, ศุภชัย สารกาญจน์, สุนี ศรีสิงห์, อัมพร ยังโหมด, สมลักษณ์ จูฑังคะ, สมพงษ์ กาทอง, จิณณจาร์ หาญเศรษฐสุข, ประพิศ วองเทียม, จงรักษ์ จารุเนตร, วัลลีย์ อมรพล, อุดม จันทะมณี, เอนก สุวรรณหงส์, โอภาษ บุญเส็ง, เสาวรี บำรุง, อภิชาต เมืองซอง, เพียงเพ็ญ ศรวัต, วรยุทธ ศิริชุมพันธ์, เมธี คำหุ่ง, วีระเด่น วิจิตรจันทร์, สุชาติ คำอ่อน, ปิ่นแก้ว ค้อชากุล, วสันต์ วรรณจักร, ปรีชา แสงโสดา, พินิจ กัลยาศิลปิน, ปริญญา สีบุญเรือง, เสรีวัฒน์ จัตตุพรพงษ์, ธำรง เชื้อกิตติศักดิ์, ไชยยศ เพชระบูรณิน, สมศักดิ์ ทองศรี, วัฒนะ วัฒนานนท์ และธีรภัทร ศรีนรคุต
ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง, ศูนย์วิจัยพืชไร่นครราชสีมา, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, ศูนย์บริการวิชาการฯ มุกดาหาร, ศูนย์บริการวิชาการฯ ร้อยเอ็ด, ศูนย์บริการวิชาการฯ กาฬสินธุ์, ศูนย์บริการวิชาการฯ เลย, ศูนย์บริการวิชาการฯ ปราจีนบุรี, ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี, ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี, สถาบันวิจัยพืชไร่ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

          มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 มีชื่อเดิมว่า CMR35-64-1 ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองและประเมินศักยภาพของพันธุ์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างปี 2535 - 2542 รวมทั้งสิ้น 35 แปลงทดลองพบว่า พันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตแป้งและผลผลิตมันแห้งสูง กล่าวคือ ให้ผลผลิตแป้งเฉลี่ย 1.24 ตันต่อไร่ ให้ผลผลิตมันแห้ง (มันเส้น) เฉลี่ย 2.11 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานคือ พันธุ์ระยอง 5 ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 ร้อยละ 13 5 11 และ 16 21 และ 15 ตามลำดับ ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองจึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในการประเมินผลผลิตเอทานอลจากพันธุ์ระยอง 9 ร่วมกับลูกผสมชุดเดียวกันนี้อีก 2 สายพันธุ์ และพันธุ์มาตรฐาน 4 พันธุ์ได้แก่ ระยอง 5 ระยอง 72 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 ในปี 2544 - 2547 โดยในระยะแรกเป็นการประเมินในระดับห้องปฏิบัติการหลังจากนั้นจึงคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเอทานอลสูงจากการทดลองระดับห้องปฏิบัติการ 2 พันธุ์ ซึ่งได้แก่ พันธุ์ระยอง 9 และพันธุ์ระยอง 90 ไปทดลองผลิตเอทานอลในระดับโรงงานต้นแบบขนาดกำลังผลิต 1,500 ลิตร ที่ใช้หัวสดประมาณ 10 ตัน เป็นวัตถุดิบ พบว่าพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าพันธุ์ระยอง 90 เนื่องจากคุณสมบัติ 2 ประการ คือ มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงกว่า ทำให้แปรรูปเป็นน้ำตาลได้มากกว่า และมีอัตราส่วนในการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอลสูงกว่า การใช้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9 เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมัน มันเส้น และเอทานอลจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ ในปี 2547 - 2548 ได้ทำการทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรเพิ่มเติมอีก 12 แปลง เพื่อให้ได้ข้อมูลเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นอีก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ระยอง 7 และระยอง 90 ผลการประเมินศักยภาพของพันธุ์ในพื้นที่รับผิดชอบของ สวพ. 3 สวพ. 4 สวพ. 5 และ สวพ. 6 รวมทั้งสิ้น 47 แปลง สรุปได้ว่าพันธุ์ระยอง 9 เหมาะสำหรับพื้นที่ดินร่วนปนทราย และดินทรายปนร่วนมากกว่า ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนปนลูกรัง ให้ผลผลิตได้ดีในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1,000 มิลลิเมตรต่อปี และควรเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 1 ปีขึ้นไป จากผลงานวิจัยดังกล่าว ทำให้มันสำ ปะหลังพันธุ์ระยอง 9 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตแป้งมันแห้ง และเอทานอลสูง เหมาะสำหรับปลูกเพื่ออุตสาหกรรมแป้งมัน มันเส้น มันอัดเม็ด และเอทานอล ได้รับการรับรองพันธุ์จากคณะกรรมการบริหารกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549


ไฟล์แนบ
.pdf   630_2551.pdf (ขนาด: 1.65 MB / ดาวน์โหลด: 586)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม