การผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน
#1
การผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ, อุดม คำชา, กาญจนา ทองนะ, พสุ สกุลอารีวัฒนา และศิริลักษณ์ สมนึก
กองแผนงานและวิชาการ

          ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคายได้รับมอบหมายจากกรมวิชาการเกษตรให้ผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2 ที่มีคุณภาพดีและตรงตามพันธุ์ จำนวนอย่างน้อย 800,000 ต้น สถานที่ดำเนินการผลิตต้นกล้า คือ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคาย ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติหนองคาย และพื้นที่เช่าเอกชนอำเภอท่าบ่อ ดำเนินการตั้งแต่สิงหาคม 2548 - กันยายน 2551 การผลิตต้นกล้านำเมล็ดงอกจากศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีมาเพาะและประยุกต์การดูแลรักษาตามหลักการจัดการแปลงเพาะกล้าปาล์มน้ำมัน โดยแบ่งการดูแลเป็น 2 ระยะคือ ระยะอนุบาลแรกและอนุบาลหลักการจัดการแปลงเพาะกล้าปาล์มน้ำ มันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยึดหลักวิชาการตามคำแนะนำกรมวิชาการเกษตรเป็นต้นแบบแต่มีการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยระยะอนุบาลแรกให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์ และศึกษาวิธีให้น้ำในระยะอนุบาลหลัก 3 วิธีคือ แบบสปริงเกอร์ น้ำหยดแบบมีขาปัก และน้ำหยดแบบไม่มีขาปัก การให้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับให้ปุ๋ยเสริม และการจัดการโดยใช้พลาสติกปูพื้นในแปลงเพาะกล้าพบว่า ระยะอนุบาลหลักน้ำหยดแบบขาปักให้ผลดีที่สุดส่วนการให้ปุ๋ยพบว่าวิธีที่เหมาะสม คือ ระยะอนุบาลแรกเริ่มให้ปุ๋ยหลังต้นกล้ามีอายุ 4 สัปดาห์ สูตร 20-20-20 พ่นทางใบสัปดาห์ละครั้ง จนต้นกล้าอายุ 3 - 5 เดือน ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15+2MgO จำนวน 10 กรัมต่อต้น ทุก 15 วัน การให้ปุ๋ยในระยะอนุบาลหลัก ช่วงต้นกล้าอายุ 8 - 24 เดือน ให้ปุ๋ย 2 วิธี คือ การให้ปุ๋ยลงในถุงตามเอกสารวิชาการปาล์มน้ำมัน (2547) ร่วมกับการให้ปุ๋ยละลายช้าสูตร 14-9-15+2MgO จำนวน 10 กรัมต่อต้น ในช่วงสัปดาห์แรกหลังย้ายปลูกและการผสมปุ๋ยเข้มข้นสูตร 20-20-20 ในอัตรา 25 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นต้นกล้าในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้การปรับวิธีจัดการแรงงาน การขนส่ง การตัดแต่งทางใบ การใช้พลาสติกปูพื้นป้องกันวัชพืชเพื่อลดต้นทุนการจัดการศูนย์ฯ สามารถผลิตต้นกล้าจำนวน 994,821 ต้น เพื่อสนับสนุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อทดแทนพลังงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับปลูกปี 2549 - 2551 โดยใช้วิธีการจัดการแปลงเพาะกล้าประยุกต์ตามหลักวิชาการกรมฯ รวมแล้วศูนย์ฯ กระจายต้นกล้าทั้งหมด 759,850 ต้น นำส่งเงินรายได้คืนกองทุนวิจัยด้านการเกษตรจากเงินรายได้การดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตรแล้วจำนวน 20,596,150 บาท ทั้งนี้มีต้นกล้าบางส่วนได้กระจายให้กับโครงการอื่นคิดเป็นมูลค่า 14,473,700 บาท ดังนั้นศูนย์ฯ คาดว่าจะมีรายได้คืนให้งบเงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร รวมเป็นมูลค่า 35,033,850 บาท และบุคลากรของศูนย์ฯ ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์การจัดการแปลงเพาะต้นกล้าปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่โดยตรง สามารถถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการและเกษตรกรที่สนใจ


ไฟล์แนบ
.pdf   650_2551.pdf (ขนาด: 470.04 KB / ดาวน์โหลด: 417)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม