06-30-2016, 01:43 PM
การควบคุมโรคเหี่ยวแบคทีเรียของมันฝรั่งที่เกิดจากเชื้อ Ralstonia solanacearum โดยวิธีผสมผสาน
วงศ์ บุญสืบสกุล, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ บูรณี พั่ววงษ์แพทย์ และวิวัฒน์ ภานุอำไพ
กลุ่มงานบักเตรีวิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
วงศ์ บุญสืบสกุล, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ บูรณี พั่ววงษ์แพทย์ และวิวัฒน์ ภานุอำไพ
กลุ่มงานบักเตรีวิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ถ่ายเชื้อและเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ DOA-WB-4 และแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยวมันฝรั่ง Ralstonia solanacearum จาก stock culture ที่เก็บรักษาไว้ ณ กลุ่มงานบักเตรีวิทยา ติดต่อและเตรียมแปลงทดลองตามแผนการทดลองที่ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ทั้งสองแห่งวางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธีได้แก่ การใช้เชื้อปฏิปักษ์ควบคุมโรคอย่างเดียว (กรรมวิธีที่ 1) และร่วมกับการปลูกพืชหมุนเวียน (กรรมวิธีที่ 2) การตากดิน (กรรมวิธีที่ 3) และการใช้สารสมุนไพร (กรรมวิธีที่ 4) โดยกรรมวิธีเปรียบเทียบเป็นกรรมวิธีที่ 5 ปลูก 4 แถวต่อหนึ่งกรรมวิธี แถวยาว 4 เมตร ระยะระหว่างแถว 90 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างกรรมวิธี 2 เมตร ระยะระหว่างซ้ำ 4 เมตร ผลการตรวจประชากรเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยวก่อนปลูกพบเชื้อดังกล่าวทุกแปลง ผลการตรวจหัวพันธุ์มันฝรั่งที่ใช้ในการทดลองทั้งหมดไม่พบเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยว เตรียมเชื้อปฏิปักษ์ 109 โคโลนีต่อมิลลิลิตร จำนวน 5000 มิลลิลิตร คลุกหัวพันธุ์มันฝรั่งด้วยอัตรา 10 มิลลิลิตรต่อหัวพันธุ์หนึ่งกิโลกรัม แล้วปลูกตามแผนการทดลอง ปลูกเชื้อสาเหตุโรคเหี่ยวในแปลงทดลองเมื่อมันฝรั่งอายุ 10 วัน ราดเชื้อปฏิปักษ์ 3 ครั้ง ในกรรมวิธีที่มีการใช้เชื้อปฏิปักษ์หลังต้นมันฝรั่งงอก 7 วัน แต่ละครั้งห่างกัน 10 วัน เก็บข้อมูลการเกิดโรคในทุกกรรมวิธี ครั้งที่ 1 (20 วัน) และ 2 (40 วัน) พบว่า แปลงทดลองที่จังหวัดตาก การพัฒนาการเป็นโรคไม่ดี กรรมวิธีเปรียบเทียบเป็นโรค 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กรรมวิธีอื่นๆ เป็นโรค 1 - 3 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเกิดสภาวะฝนแล้งไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชและการพัฒนาการเกิดโรคต้นพืชไม่สมบรูณ์ ผลการทดลองที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่า การใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ DOA-WB-4 (Bacilus subtilis) (คลุกหัวพันธุ์มันฝรั่งก่อนปลูก อัตรา 10(9) cfu ต่อมิลลิลิตร ปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมหัวพันธุ์ และราดด้วยเชื้อดังกล่าวอัตรา 10(6) cfuต่อมิลลิลิตร ปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อหลุม จำนวน 4 ครั้ง (แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน) เพียงอย่างเดียวให้ผลในการควบคุมโรคได้ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากการใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย พบเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคอยู่ระหว่าง 2.8 - 5.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กรรมวิธีเปรียบเทียบแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญพบเปอร์เซ็นต์การเป็นโรค 58 เปอร์เซ็นต์ ขยายผลการใช้เชื้อ DOA-WB-4 ควบคุมโรคเหี่ยวในแปลงเกษตรกร ระหว่างปี 2549 - 2550 ในพื้นที่ 3 อำเภอ รวม 80 ไร่ ได้แก่ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 5 ไร่ (เกษตรกร 2 ราย) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 25 ไร่ (เกษตรกร 6 ราย) และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก พื้นที่ 50 ไร่ (เกษตรกร 10 ราย) พบว่า การใช้เชื้อ DOA-WB-4 สามารถป้องกันการเกิดโรคเหี่ยวได้ผลดีเป็นที่พอใจของเกษตรกร โดยลดการเกิดโรคเหี่ยวได้ 0 - 65 เปอร์เซ็นต์ ปี 2550 - 2551 ขยายผลการใช้เชื้อ DOA-WB-4 ในแปลงเกษตรกร 50 ราย พื้นที่ 300 ไร่ ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก เชียงราย ลำปาง ลำพูน และพะเยา พบว่าเกษตรกรพอใจผลการใช้เชื้อ DOA-WB-4 สามารถป้องกันการเกิดโรคเหี่ยวของมันฝรั่งได้ผลดีลดการเกิดโรคเหี่ยวได้ 0 - 80 เปอร์เซ็นต์