06-29-2016, 09:57 AM
ทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตลำไยนอกฤดูเพื่อให้ได้มาตรฐานคุณภาพพื้นที่ดอน จังหวัดลำพูน
พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, ศิริพร หัสสรังสี, อนรรค อุปมาลี, สิรี สุวรรณเขตนิคม, พิจิตร ศรีปินตา และมนตรี ทศานนท์
พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, ศิริพร หัสสรังสี, อนรรค อุปมาลี, สิรี สุวรรณเขตนิคม, พิจิตร ศรีปินตา และมนตรี ทศานนท์
การทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิตลำไยนอกฤดู ในสภาพพื้นที่ดอน โดยนำเทคโนโลยีการใช้สาร KClO3 ที่เหมาะสมตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่เปรียบเทียบกับวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติ พบว่าแปลงทดสอบได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,360 กก./ไร่ มีรายได้สุทธิ 22,644 บาท/ไร่ และแปลงเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,140 กก./ไร่ มีรายได้สุทธิ 15,263.50 บาท/ไร่ ตามลำดับ ส่วนการระบาดของศัตรูในแปลงทดสอบและแปลงเกษตรกรมีความคล้ายคลึงกัน คือ พบการระบาดของเพลี้ยไก่แจ้สูงสุด แปลงทดสอบ 85% และ 80% ในแปลงเกษตรกร ในระยะใบอ่อนที่อากาศแห้งแล้ง ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจึงแนะนำให้ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ส่วนศัตรูพืชชนิดอื่นๆ เช่น เพลี้ยหอย, เพลี้ยแป้ง, หนอนม้วนใบ และหนอนเจาะผล พบในปริมาณน้อย เนื่องจากมีศัตรูธรรมชาติพวกตัวห้ำ, ตัวเบียน ช่วยควบคุมปริมาณไม่ให้เกิดความเสียหาย พบว่าการจัดการเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูโดยการปรับปรุงดินตามค่าวิเคราะห์ การตัดแต่งกิ่ง การดูแลจัดการตามวิธีการ GAP ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีเกรดใหญ่มากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร กรรมวิธีทดสอบยังมีต้นทุนการผลิต/กิโลกรัมที่ต่ำกว่าแปลงเกษตรกร และการผลิตลำไยนอกฤดูในจังหวัดลำพูน พบปัญหาในเรื่องสภาพอากาศที่ตรงกับช่วงฤดูฝน มีฝนมากในช่วงราดสารโพแทสเซียมคลอเรตจะทำให้สารถูกชะล้างไปกับน้ำฝน ประสิทธิภาพของสารลดลง และมีฝนชุกและต่อเนื่องในช่วงที่ต้นลำไยจะออกดอก ทำให้ต้นลำไยแตกใบอ่อน ไม่ออกดอก ผลผลิตต่อต้นต่ำ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมต้นให้สมบูรณ์และติดตามการพยากรณ์อากาศนับเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตลำไยนอกฤดู