วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลลำไยเพื่อการส่งออก
#1
วิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลลำไยเพื่อการส่งออก
ชัยณรัตน์ สนศิริ, สลักจิต พานคำ, มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์, อุดร อุณหวุฒิ และรัชฎา อินทรกำแหง
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และผู้เชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร

          ศึกษาวิธีการกำจัดแมลงด้วยความร้อนเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ oriental fruit fly, Bactrocera dorsalis (Hendel) ในผลลำไย (Dimocarpus longan L.) โดยศึกษาประสิทธิภาพของวิธีอบไอน้ำในการกำจัดแมลงวันผลไม้ B. dorsalis ในผลลำไย เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ระยะไข่ (อายุ 24 ชั่วโมง) ศึกษา 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 อบลำไยให้อุณหภูมิภายในผลเพิ่มขึ้นถึง 46 องศาเซลเซียส และคงความร้อนไว้ที่ 46 องศาเซลเซียส นาน 20, 30, 40, 50 และ 60 นาที ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ พบว่า แมลงวันผลไม้มีอัตราการตายเฉลี่ย 92.93, 99.51, 99.94, 100 และ100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ การทดลองที่ 2 อบลำไยให้อุณหภูมิภายในผลเพิ่มขึ้นถึง 46 องศาเซลเซียส และคงความร้อนไว้ที่ 46 องศาเซลเซียส นาน 45, 50 และ 55 นาที พบว่า แมลงวันผลไม้มีอัตราการตายเฉลี่ย 100, 100 และ100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ แสดงว่าที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 50 นาที สามารถกำจัดระยะไข่ของแมลงวันผลไม้ในผลลำไยจำนวนไม่น้อยกว่าประมาณ 3,500 ตัว ตายทั้งหมด จากผลการทดลองนี้ ได้เสนอให้มีการประเมินประสิทธิภาพกระบวนการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ 46.0 องศาเซลเซียส นาน 50 นาที เพื่อใช้เป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืช สำหรับกำจัดไข่ และหนอนวัยต่างๆ ของแมลงวันผลไม้ในผลลำไยก่อนส่งออก

          การยืนยันประสิทธิภาพของวิธีอบไอน้ำในการกำจัดแมลงวันผลไม้ B. dorsalis ในผลลำไย ศึกษา 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 การประเมินประสิทธิภาพการกำจัดแมลง โดยวิธีใส่ไข่แมลงในผลลำไย และวิธีให้แมลงวางไข่ในผลลำไย อบลำไยที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 50 นาที ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ลำไยที่ไม่ผ่านความร้อน (control) จำนวน 8,000 และ 4,000 ผล มีแมลงรอดชีวิต จำนวน 14,806 และ 235 ตัว ลำไยที่ผ่านความร้อน (treatment) จำนวน 12,000 และ 6,000 ผล ไม่พบแมลงรอดชีวิต ผลการประเมินประสิทธิภาพกระบวนการกำจัดแมลงวันผลไม้ดังกล่าวข้างต้น พบว่า สามารถกำจัดไข่จำนวนประมาณ 22,566 ฟอง ในผลลำไยตายทั้งหมด การทดลองที่ 2 การประเมินความเสียหายต่อคุณภาพลำไยในสภาพจำลองการส่งออกทางเครื่องบิน และทางเรือ อบลำไยที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 50 นาที ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เก็บไว้ในตู้ควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นที่ 10 องศาเซลเซียส นาน 7 และ 14 วัน พบว่า การสูญเสียน้ำหนัก และปริมาณน้ำตาลไม่เปลี่ยนแปลง แต่สีผิวเปลือกของผลลำไยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลแห้ง และแข็ง ข้อมูลจากการทดลองนี้ และการทดลองที่ผ่านมาจึงขอเสนอกระบวนการกำจัดแมลงดังกล่าวข้างต้นเป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืชสำหรับใช้กำจัดแมลงวันผลไม้ในผลลำไยก่อนส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศที่ห้ามนำเข้าลำไยสดจากประเทศไทย
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม