การศึกษาลักษณะทางการเกษตรของอ้อยโคลนดีเด่นโคลนอ้อยระหว่างศูนย์ปี 2552
#1
การศึกษาลักษณะทางการเกษตรของอ้อยโคลนดีเด่นโคลนอ้อยระหว่างศูนย์ปี 2552 : 2) การตอบสนองต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช
วันทนา  เลิศศิริวรกุล, ทักษิณา  ศันสยะวิชัย, วีระพล  พลรักดี, ภาคภูมิ  ถิ่นคำ และวันรุ่ง  เสือปู่

          การศึกษาการตอบสนองต่อสารเคมีกำจัดวัชพืชของอ้อยโคลนดีเด่นโคลนอ้อยระหว่างศูนย์ปี 2552 วางแผนการทดลองแบบ split plot 4 ซ้ำ กรรมวิธีประกอบด้วย 2 ปัจจัย ปัจจัยหลักคือการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช โดยแบ่งเป็น 2 การทดลอง คือ สารเคมีก่อนวัชพืชงอก 6 ชนิด ได้แก่ อาทราซีน อามีทรีน เพนดิเมทาลิน เฮ็กซาซิโนน  อิมาซาพิค  และไดยูรอน และสารเคมีหลังอ้อยและวัชพืชงอกอีก 6 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสท  อามีทรีน  เมทริบูซีน 2,4-D และ กลูโฟซิเนตแอมโมเนียม ศึกษากับพันธุ์อ้อย 6 พันธุ์  ได้แก่ พันธุ์ 95-2-213  98-2-097  BC04-713  BC04-768  ขอนแก่น 3 และพันธุ์เค 88-92  ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ผลการทดลองพบว่าวัชพืชหลักที่พบมีทั้งวัชพืชใบแคบ ใบกว้าง วัชพืชเถาเลื้อย และกก ได้แก่ หญ้าปากควาย หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้าบุ้ง สตาร์กล๊าส หญ้าขนเล็ก สาบม่วง ครามขน ถั่วลิสงนา ขัดมอญ หญ้าท่าพระ ผักปราบ บานไม่รู้โรยป่า กระเพราผี ถั่วมะแฮะ ผักงวงช้าง ตีนตุ๊กแก พันงูขาว ผักเสี้ยน โทงเทง กกทราย ขยุ้มตีนหมา สะอึก การตอบสนองของพันธุ์อ้อยต่อสารเคมีก่อนวัชพืชงอก พบว่าเมื่อใช้อามีทรีนเป็นสารคุมวัชพืชสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีโดยมีปริมาณน้ำหนักแห้งวัชพืชหลังพ่นสาร 1 เดือนน้อยที่สุด 40.13 กรัมต่อตารางเมตร แต่อามีทรีนเป็นพิษเล็กน้อยกับอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 98-2-097 และ 95-2-213 ส่วนสารเคมีที่ควบคุมวัชพืชได้ไม่ดี คือ อิมาซาพิค มีปริมาณน้ำหนักแห้งวัชพืชเหลือในแปลงมากที่สุด 95.27 กรัมต่อตารางเมตร และในด้านผลผลิต   การใช้อามีทรีนให้ผลผลิตอ้อยปลูกมากที่สุด 17.1 ตันต่อไร่ ส่วนพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงที่สุดคือพันธุ์ 98-2-097 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 14.0 ตันต่อไร่ พันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำสุดคือพันธุ์ 95-2-213 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 10.7 ตันต่อไร่  การตอบสนองของพันธุ์อ้อยต่อสารเคมีหลังวัชพืชงอก พบว่า สารเคมีที่สามารถควบคุมวัชพืชได้ดี คือ 2,4-D เมื่อฉีดพ่นแล้วสามารถควบคุมวัชพืชได้หมด สารเคมีที่ควบคุมวัชพืชได้ไม่ดี คือ อามีทรีน มีปริมาณน้ำหนักแห้งวัชพืชเหลือในแปลงมากที่สุด  55.27 กรัมต่อตารางเมตร ความเป็นพิษของอ้อยหลังพ่นสารเคมีพบว่าอ้อยทุกพันธุ์แสดงความเป็นพิษระดับรุนแรงต่อการพ่นด้วยพาราควอต โดยแสดงอาการใบไหม้รุนแรงเป็นจุดจนถึงไหม้เป็นแถบสีน้ำตาล ส่วนการพ่นด้วยไกลโฟเสท อามีทรีน เมทริบูซีน 2,4-D แสดงอาการเป็นพิษเล็กน้อย และการพ่นด้วยกลูโฟซิเนตแอมโมเนียมมีผลกับอ้อยพันธุ์  98-2-097 ในระดับความเป็นพิษเล็กน้อย ในด้านผลผลิตการใช้เมทริบูซีนพ่นหลังอ้อยและวัชพืชงอกให้ผลผลิตอ้อยสูงที่สุด 10.4 ตันต่อไร่ การใช้พาราควอตให้ผลผลิตอ้อยน้อยที่สุด 8.1 ตันต่อไร่ พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงที่สุดคือพันธุ์ เค 88-92 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 11.0 ตันต่อไร่ พันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำสุดคือพันธุ์ 95-2-213 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 8.5 ตันต่อไร่


ไฟล์แนบ
.pdf   1_2555.pdf (ขนาด: 218.67 KB / ดาวน์โหลด: 3,204)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม