ศึกษารูปแบบการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์พื้นที่ภาคกลาง
#1
ศึกษารูปแบบการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์พื้นที่ภาคกลาง
พัชรีวรรณ มณีสาคร, อัมพร วิโนทัย, รจนา ไวยเจริญ และประภัสสร เชยคำแหง 
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษารูปแบบการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์พื้นที่ภาคกลาง ดำเนินการทดลองที่แปลงเกษตรกร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2556 ทำการปลูกคะน้ายอดบนแปลงทดลองย่อยขนาด 10 ตารางเมตร วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี โดยการใช้ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิดในกรณีที่พบแมลงเป้าหมายเท่านั้น ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1) ไส้เดือนฝอย Steinernema carpocapsae หรือไวรัส Sl NPV กรรมวิธีที่ 2) S. carpocapsae หรือแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis กรรมวิธีที่ 3) เชื้อรา Metarhizium anisopliae หรือ Bt กรรมวิธีที่ 4) M. anisopliae หรือ Sl NPV และกรรมวิธีที่ 5) ไม่ใช้ชีวภัณฑ์ใดๆ ) กรรมวิธีควบคุม (ผลการดำเนินงานพบว่าที่ 21 หลังหว่านเมล็ด ด้วงหมัดผักที่พบในกรรมวิธีที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 เท่ากับ 2.5, 2.5, 2.25, 1.25 และ 1.25 ตัว/20 ต้น ตามลำดับ โดยไม่แตกต่างกันทางสถิติ จึงเลือกใช้ S. carpocapsae และ M. anisopliae ในการควบคุม หลังทดสอบแล้ว 7 วัน พบว่าด้วงหมัดผักลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัดเหลือ 0.75, 1, 0.5, 0.75 และ 1.25 ตัว/20 ต้น ตามลำดับ โดยไม่แตกต่างกันทางสถิติในทุกกรรมวิธี และเปอร์เซ็นต์การควบคุมด้วงหมัดผักในกรรมวิธี 1, 2, 3 และ 4 คือ 70%, 60%, 77.8% และ 40% ตามลำดับ ที่ 28 วันหลังหว่านเมล็ด ในแต่ละกรรมวิธี 1 - 5 พบจำนวนหนอนเจาะยอดกะหล่ำเฉลี่ย 7.5, 14.25, 9.75, 9 และ 11 ตัว/20 ต้น ตามลำดับ โดยไม่แตกต่างกันทางสถิติ จึงเลือกใช้ Bt ในการทดสอบ หลังทดสอบแล้ว 7 วัน พบจำนวนหนอนเจาะยอดกะหล่ำในกรรมวิธีที่ 2 และ 3 ลดลง เหลือเฉลี่ย 4.25 และ 3.5 ตัว/20 ต้น สำหรับกรรมวิธีที่ 1, 4 และ 5 พบหนอนมีจำนวนเฉลี่ยคงเดิมโดยไม่แตกต่างกันทางสถิติในทุกกรรมวิธี สำหรับเปอร์เซ็นต์การควบคุมหนอนเจาะยอดกะหล่ำ ในกรรมวิธีที่ 2 และ 3 เท่ากับ 70.2 และ 64.1% ตามลำดับ

          ดังนั้นการใช้ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอย S. carpocapsae และ M. anisopliae สามารถควบคุมด้วงหมัดผักได้ผลเป็นอย่างดีอยู่ในระดับ 40-77.8% และการใช้ B. thuringiensis สามารถควบคุมหนอนเจาะยอดกะหล่ำได้ผลดีเช่นกันในระดับ 64.1 - 70.2%

          สำหรับจำนวนผลผลิตคะน้ายอดในกรรมวิธีที่ 4 ได้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุดคือ 0.90 กิโลกรัม/ตารางเมตร รองลงมาคือ กรรมวิธีที่ 5 ,1, 3 และ 2 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 0.86, 0.78, 0.74 และ 0.69 กิโลกรัม/ตารางเมตร ตามลำดับโดยไม่แตกต่างกันทางสถิติในทุกกรรมวิธี


ไฟล์แนบ
.pdf   64_2556.pdf (ขนาด: 466.87 KB / ดาวน์โหลด: 1,381)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม