การทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดจากพืชและน้ำมันปิโตรเลียมเพื่อยับยั้งการวางไข่แมลงวันผลไม้
#1
การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชและน้ำมันปิโตรเลียมเพื่อยับยั้งการวางไข่ของแมลงวันผลไม้ในมะม่วง
เกรียงไกร จำเริญมา, ศรุต สุทธิอารมณ์, วิภาดา ปลอดครบุรี และสัญญาณี ศรีคชา
กลุ่มวิจัยกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          จากการทดสอบโดยใช้น้ำมันว่านน้ำ 1% น้ำมันไพล 1% น้ำมันขมิ้นชัน 1% สารสกัดหนอนตายหยาก (รากแก่ 1% W/V) สารสกัดหนอนตายหยาก (รากอ่อน 1% W/V) สารสกัดจากหางไหล (0.19 – 5.03%) น้ำมันปิโตรเลียม (SK 99 83.9% EC) 25% ไวท์ออย 2.5% เปรียบเทียบกับน้ำเปล่าจุ่มผลมะม่วงน้ำดอกไม้สุกแล้วปล่อยแมลงวันผลไม้ (Bactrocera dorsalis) จำนวน 30 คู่ วางไข่ในกรงขนาด 30 x 30 x 40 เซนติเมตร หลังจากนั้น 7 วัน ตรวจเช็คหนอนภายในผล ที่ห้องปฏิบัติการ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ระหว่างตุลาคม 2548 - กันยายน 2553 พบ ผลที่จุ่มน้ำมันขมิ้นชัน 1% ไม่พบหนอนเลย ขณะที่พบหนอนบ้างเล็กน้อยในผลที่จุ่มหางไหล 5.03% ไวท์ออย 2.5% และจุ่มน้ำมันว่านน้ำ 1% จากนั้นได้ทำการทดสอบซ้ำ โดยใช้น้ำมันว่านน้ำ 1% น้ำมันขมิ้นชัน 1% สารสกัดหางไหล 5.19% และ 5.03% ปิโตรเลียมออย (SK99 83.9% EC) และไวท์ออย 2.5% เปรียบเทียบกับการจุ่มน้ำเปล่าพบ ผลมะม่วงที่จุ่มน้ำมันขมิ้นชันไม่มีการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้เลย ขณะที่ผลซึ่งจุ่มน้ำมันว่านน้ำ และไวท์ออย 2.5% พบ หนอนแมลงวันผลไม้ในผลบ้าง ทดลองซ้ำในครั้งที่ 3 โดยใช้น้ำมันไพล น้ำมันขมิ้นชัน สารสกัดหางไหล สารสกัดหนอนตายหยาก น้ำมันปิโตรเลียม (SK99) เปรียบเทียบกับน้ำเปล่าพบว่า ผลมะม่วงที่จุ่มน้ำมันขมิ้นชันไม่พบการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้เลย ขณะที่ผลที่จุ่มสารชนิดอื่นมีการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ไม่แตกต่างกัน การทดสอบความสามารถในการดึงดูดตัวเต็มวัยแมลงวันผลไม้ ชนิด B. dorsalis ของน้ำมันไพล และน้ำมันขมิ้นชัน เมื่อเปรียบเทียบกับผลที่จุ่มน้ำเปล่าหลังจุ่มสาร 0.30, 1.00, 1.30, 2.00, 2.30 และ 3.00 ชั่วโมง พบ น้ำมันไพลดึงดูดตัวเต็มวัยแมลงวันผลไม้ได้ดีกว่าน้ำมันขมิ้นชันและน้ำเปล่า การทดสอบเพิ่มเติมโดยใช้กรงขนาดใหญ่ (1.50 x 1.50 x 1.80 เมตร) และปล่อยแมลงวันผลไม้จำนวนมากถึง 500 ตัว/กรง (เพศเมีย 400 + เพศผู้ 100 ตัว) พบว่า การทำลายของแมลงวันผลไม้ในผลที่จุ่มน้ำมันขมิ้นชันมากขึ้น และไม่แตกต่างจากผลมะม่วงที่จุ่มสารชนิดอื่น แสดงว่าในสภาพที่มีประชากรของแมลงวันผลไม้สูง น้ำมันขมิ้นชันไม่สามารถลดการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ได้ ส่วนการทดสอบในสภาพสวน ในจังหวัดฉะเชิงเทราและอ่างทอง ระหว่างมีนาคม - สิงหาคม 2551 พบ การห่อผลให้ผลดีที่สุดในการป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ การจุ่มผลมะม่วงในระยะผลแก่ทำให้ผลแตกเป็นสาเหตุให้แมลงวันผลไม้เข้าทำลายเพิ่มขึ้น สำหรับการทดสอบในปี 2552 ทำการทดสอบ 2 ครั้ง ที่สวนมะม่วงเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง ให้ผลสอดคล้องกัน คือ ผลที่จุ่มน้ำมันขมิ้นชันถูกทำลายไม่แตกต่างจากการห่อผล แต่จะถูกทำลายน้อยและแตกต่างจากกรรมวิธีเปรียบเทียบที่ไม่ห่อผลและไม่พ่นสาร ส่วนการทดสอบในปี 2553 ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการพ่นแทนการจุ่ม เนื่องจากการจุ่มทำให้เกิดปัญหา phytotoxic ที่ผิวเปลือกจากการศึกษาพบว่า ผลที่พ่นน้ำมันขมิ้นชันให้ผลในการควบคุมการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ในมะม่วงค่อนข้างดี


ไฟล์แนบ
.pdf   1579_2553.pdf (ขนาด: 331.04 KB / ดาวน์โหลด: 1,122)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม