01-05-2016, 12:40 PM
ความผันแปรของเชื้อราสาเหตุโรคใบจุดของยางพารา
นริสา จันทร์เรือง, อุไร จันทรประทิน, พเยาว์ ร่มรื่นสุขารมย์, บุตรี พุทธรักษ์ และบัญญัติ สิทธิผล
ศูนย์วิจัยยางสงขลา และศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง
นริสา จันทร์เรือง, อุไร จันทรประทิน, พเยาว์ ร่มรื่นสุขารมย์, บุตรี พุทธรักษ์ และบัญญัติ สิทธิผล
ศูนย์วิจัยยางสงขลา และศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง
เชื้อรา Colletotriclum gloeosporioides ทำให้เกิดอาการใบจุดโดยทำให้เกิดแผลตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ การศึกษาความแตกต่างของสายพันธุ์เชื้อราจากลักษณะทางสัณฐานวิทยา การสร้างสปอร์ และความสามารถในการทำให้เกิดโรคของเชื้อรา โดยเก็บตัวอย่างโรคใบจุดนูนที่เกิดจากเชื้อรา C. gloeosporioides จากสวนยาง 27 แหล่ง ในเขตภาคใต้ 3 จังหวัดได้เชื้อราจำนวน 27 สายพันธุ์ พบว่า การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเชื้อสามารถจำแนกได้เป็น 8 กลุ่ม การทดสอบความรุนแรงของสายพันธุ์เชื้อในการทำให้เกิดโรคพบว่า สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงระดับ 0-1 มีจำนวน 7 สายพันธุ์ ความรุนแรงระดับ 1-2 มีจำนวน 7 สายพันธุ์ ความรุนแรงระดับ 2-3 มีจำนวน 8 สายพันธุ์ ความรุนแรงระดับ 3-4 มีจำนวน 5 สายพันธุ์ ส่วนในเขตปลูกยางใหม่รวบรวมเชื้อรา Colletotrichum sp. ได้ 30 สายพันธุ์ แยกได้จากยางพารา 23 สายพันธุ์ จากพืชอาศัย 7 สายพันธุ์ สามารถจัดแบ่งกลุ่มตามลักษณะทางสัณฐานวิทยาบนอาหารได้ 3 กลุ่ม แต่แบ่งตามอัตราการเจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อ potato dextrose agar (PDA) ได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เจริญช้า มี 10 สายพันธุ์ มีอัตราการเจริญอยู่ระหว่าง 1.64-2.84 มิลลิเมตรต่อวัน และกลุ่มที่เจริญเร็ว มี 20 สายพันธุ์ มีอัตราการเจริญอยู่ระหว่าง 4.27-5.60 มิลลิเมตรต่อวัน และความสามารถในการทำให้เกิดโรคของเชื้อแต่ละสายพันธุ์มีความสัมพันธ์กับการสร้างสปอร์ จากผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เชื้อรา Colletotrichum sp. จากแหล่งปลูกยางต่างๆ มีความผันแปรสูงทั้งการทำให้เกิดอาการโรค การเจริญเติบโต และการสร้างสปอร์ จึงควรทำการศึกษาโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรเชื้อต่อไป เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ