คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การเฝ้าระวังการเกิดและการแพร่กระจายของแบคทีเรีย Pantoea stewartii - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การเฝ้าระวังการเกิดและการแพร่กระจายของแบคทีเรีย Pantoea stewartii (/showthread.php?tid=987)



การเฝ้าระวังการเกิดและการแพร่กระจายของแบคทีเรีย Pantoea stewartii - doa - 01-04-2016

การเฝ้าระวังการเกิดและการแพร่กระจายของแบคทีเรีย Pantoea stewartii
ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล, พีระวรรณ พัฒนวิภาส, ณัฏฐพร อุทัยมงคล และชลธิชา รักใคร่
กลุ่มวิจัยโรคพืช และกลุ่มวิจัยการกักกันพืช  สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          เชื้อแบคทีเรีย Pantoea stewartii สาเหตุโรคเหี่ยวของข้าวโพด (stewart’s bacterial wilt disease of corn) เป็นเชื้อที่มีความสำคัญทางกักกันพืช จากการที่ประเทศไทยมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นส้นทาง (pathway) ของเชื้อนี้ที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดได้ทางเมล็ดพันธุ์ (seed transmission) จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังโรคเหี่ยวของข้าวโพดเชื้อนี้อย่างเป็นระบบเพื่อเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการจัดทำบัญชีรายชื่อศัตรูพืช วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และการกำหนดพื้นที่ปลอดศัตรูพืช จากการสำรวจแหล่งปลูกข้าวโพด 12 แหล่งปลูก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 - กันยายน 2553 จำนวน 95 แปลง เชียงราย จำนวน 10 แปลง เชียงใหม่ จำนวน 10 แปลง แม่ฮ่องสอน จำนวน 5 แปลง ตาก จำนวน 10 แปลง นครสวรรค์ จำนวน 5 แปลง ลำปาง จำนวน 5 แปลง แพร่ จำนวน 10 แปลง น่าน จำนวน 10 แปลง หนองคาย จำนวน 10 แปลง นครราชสีมา จำนวน 10 แปลง สระบุรี จำนวน 5 แปลง และลพบุรี จำนวน 5 แปลง ไม่พบอาการโรคเหี่ยวบนต้นกล้าของข้าวโพด ได้ทำการเก็บตัวอย่างที่มีอาการใบไหม้ (leaf blight) ที่มีลักษณะอาการคล้ายกับอาการโรคเหี่ยวในต้นข้าวโพดจำนวน 60 ตัวอย่าง นำมาตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย P. stewartii ด้วยวิธี enzyme linked immunosorbent assay (ELISA) โดยใช้ชุดตรวจสอบสำเร็จรูปจากบริษัท Agdia, Elkhart, Indiana, USA และวิธี PCR ตามวิธีของ Coplin and Majerczak ผลการตรวจสอบพบว่า ตัวอย่างทั้ง 60 ตัวอย่าง ไม่เกิดปฏิกิริยาบวกทั้งวิธี ELISA และ PCR แสดงให้เห็นว่า จากการสำรวจแหล่งปลูกข้าวโพด 12 แหล่งปลูก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 - กันยายน 2553 จำนวน 95 แปลง ไม่พบโรคเหี่ยวของข้าวโพดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย P. stewartii