คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการวัชพืชเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: ศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการวัชพืชเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน (/showthread.php?tid=928)



ศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการวัชพืชเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน - doa - 12-23-2015

ศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการวัชพืชเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืนของชุมชนในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้
จรรยา มณีโชติ, วนิดา ธารถวิล, สุพัตรา ชาวกงจักร์ และชุติมา รัตนเสถียร
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกองคุ้มครองพันธุ์พืช

          จากการสำรวจพื้นที่ของชุมชนในภาคกลางและภาคใต้พบว่า ข้าววัชพืชเป็นปัญหาสำคัญในการปลูกข้าวของชุมชนตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และสับปะรดในชุมชนด่านสิงขร อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิต จึงได้ทดสอบวิธีการจัดการข้าววัชพืชแบบผสมผสานโดยใช้สารกำจัดวัชพืชร่วมกับรถดำนา และการถอนต้นทิ้ง และเปลี่ยนการทำนาต่อเนื่องปีละ 3 ครั้ง เป็นการทำนาปีละ 2 ครั้ง สลับกับการหว่านเมล็ดปอเทืองอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบในระยะเริ่มออกดอก โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมทดสอบ 11 ราย พบว่า หลังจากการใช้วิธีการดังกล่าวต่อเนื่องกัน 2 ปี ทำให้การระบาดของข้าววัชพืชลดลงและสามารถนำเมล็ดพันธุ์ไปจำหน่ายได้เมื่อสิ้นโครงการ ส่วนปัญหาการจัดการวัชพืชของชุมชนปลูกสับปะรดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบการระบาดของวัชพืชหลายชนิด เช่น หญ้าตีนติด หญ้ากินี วัชพืชประเภทเถาเลื้อยซึ่งทำให้ผลผลิตสับปะรดเสียหาย และวัชพืชบางชนิดยังเป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยแป้งสาเหตุโรคเหี่ยวสับปะรด จึงได้พัฒนาระบบการจัดการวัชพืชในแปลงเกษตรกร 3 แห่ง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรีพบว่า การใช้สารกำจัดวัชพืช hexazinone + diuron อัตรากรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ พ่นคลุมดินก่อนปลูกสับปะรด 1 วัน หรือพ่นสารกำจัดวัชพืช bromacil + diuron อัตรา 400 + 400 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ หลังปลูกสับปะรดและดินมีความชื้นหรือพ่นด้วย sulfosate + bromacil + diuron อัตรา 240 + 400 + 400 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ กำจัดวัชพืชก่อนปลูกสับปะรดสามารถควบคุมวัชพืชได้นาน 4 - 6 เดือน และการเจริญเติบโตของสับปะรดดีกว่าแปลงที่ไม่มีการกำจัด 16-5-30 เปอร์เซ็นต์ จากการทำแปลงทดลองในชุมชนทั้งสองแห่งสามารถใช้เป็นแปลงเรียนรู้ของเกษตรกรในชุมชน นำไปปฏิบัติเพื่อการจัดการวัชพืชเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุ์อย่างยั่งยืนต่อไป