คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การประเมินข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ Cypermethrin, EPN, Chlorpyrifos และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การประเมินข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ Cypermethrin, EPN, Chlorpyrifos และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (/showthread.php?tid=921)



การประเมินข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ Cypermethrin, EPN, Chlorpyrifos และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ - doa - 12-23-2015

การประเมินข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ Cypermethrin, EPN, Chlorpyrifos และผลิตภัณฑ์สารธรรมชาติจากเกษตรกร
อุดมลักษณ์ อุ่นจิตต์วรรธนะ, พิเชษฐ์ ทองละเอียด และยุพดี จิตต์ไพศาล
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ทำการสำรวจการใช้วัตถุมีพิษเคมีและวัตถุมีพิษจากสารธรรมชาติจากเกษตรกรปลูกผักจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง และภาคตะวันออกทั้งหมด 147 ราย แบ่งเป็น ฉะเชิงเทรา 8 ราย กาญจนบุรี 28 ราย อยุธยา 11 ราย ปทุมธานี 16 ราย กรุงเทพฯ 9 ราย สระบุรี 8 ราย นนทบุรี 15 ราย นครปฐม 13 ราย ชลบุรี 21 ราย และอ่างทอง 18 ราย พบมีการใช้สารธรรมชาติ 37% และการใช้สารเคมี 63% ยาฆ่าแมลงที่ใช้ 5 อันดับแรก ได้แก่ Cypermethrin 30%, abamectin 17%, methomyl 9%, chlorpyrifos 8%, carbosulfan 7% และยาเคมีอื่นๆ 29% ส่วนสารธรรมชาติที่ใช้มาก 5 อันดับแรกคือ สะเดา 30% นำหมักปลาน้ำหมักหอย 13% หางไหล 9% ข่า 8% ตะไคร้หอม 6% อื่นๆ 34% (น้ำส้มควันไม้ น้ำหมักสมุนไพร หนอนตายหยาก Bt. ฯลฯ) 

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสำรวจทั้งหมด 150 ราย แบ่งเป็นศรีสะเกษ 26 ราย นครราชสีมา 12 ราย ขอนแก่น 5 ราย สกลนคร 3 ราย อุบลราชธานี 81 ราย และอุดรธานี 23 ราย พบมีการใช้สารเคมี 91% และใช้สารธรรมชาติ 9% ยาฆ่าแมลงที่ใช้ 5 อันดับแรก ได้แก่ Cypermethrin 27%, abamectin 19%, chlorpyrifos 16%, mancozeb 11%, methomyl 8%, carbosulfan 7% และยาเคมีอื่นๆ 12% ส่วนสารธรรมชาติที่ใช้ 5 อันดับแรก คือ สะเดา 40% น้ำหมักปลาและพืช 30% ดาวเรือง 14% ข่า ตะไคร้หอม บีที ชนิดละ 4% หางไหลและสมุนไพรพื้นบ้าน 4% อื่นๆ 8%

          ภาคเหนือสำรวจทั้งหมด 117 ราย แบ่งเป็น เชียงราย 19 ราย เชียงใหม่ 10 ราย ลำพูน 12 ราย ตาก 10 ราย อุตรดิตถ์ 15 ราย พิจิตร 12 ราย กำแพงเพชร 24 ราย และเพชรบูรณ์ 15 ราย พบมีการใช้สารเคมี 95% และใช้สารธรรมชาติ 5% ยาฆ่าแมลงที่ใช้ 5 อันดับแรก ได้แก่ cypermethrin 24%, chlorpyrifos 15%, abamectin 10%, methomyl 10%,  carbosulfan 5% และยาเคมีอื่นๆ 36% ส่วนสารธรรมชาติที่ใช้ 5 อันดับแรก คือ สะเดา 34% น้ำหมักผลไม้ 24% ขี้เหล็ก 14% บอระเพ็ดและหางไหลอย่างละ 9% อื่นๆ 10%

          ภาคใต้สำรวจทั้งหมด 133 ราย แบ่งเป็น ประจวบคีรีขันธ์ พังงา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี พบมีการใช้สารเคมี 89% และใช้สารธรรมชาติ 11% ยาฆ่าแมลงที่ใช้ 5 อันดับแรก ได้แก่ Cypermethrin 33%, abamectin 19%, chlorpyrifos 17%, methomyl, carbofuran, mancozeb, carbendazim อย่างละ 3% และยาเคมีอื่นๆ 19% ส่วนสารธรรมชาติที่ใช้ 5 อันดับแรกคือ สะเดา 56% น้ำหมักผลไม้และยาฉุนอย่างละ 19% กาแฟ 6%

           ในการฉีดพ่นวัตถุมีพิษการเกษตรของทุกภาคนิยมฉีด 4-7 วัน/ครั้ง แต่จะมีบางกลุ่มฉีด 0-3 วัน/ครั้ง และการเก็บผลผลิตหลังการฉีดครั้งสุดท้ายจะเก็บเกี่ยวที่ 4-7 วัน พอๆ กับเก็บที่ 8-15 วัน และเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้วัตถุมีพิษตามอัตราที่แนะนำบนฉลาก