คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ปฏิกิริยาของสายพันธุ์ข้าวฟ่างหวานที่ต้านทานต่อโรคช่อดอกไหม้ และยอดบิด - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: ปฏิกิริยาของสายพันธุ์ข้าวฟ่างหวานที่ต้านทานต่อโรคช่อดอกไหม้ และยอดบิด (/showthread.php?tid=889)



ปฏิกิริยาของสายพันธุ์ข้าวฟ่างหวานที่ต้านทานต่อโรคช่อดอกไหม้ และยอดบิด - doa - 12-23-2015

ปฏิกิริยาของสายพันธุ์ข้าวฟ่างหวานที่ต้านทานต่อโรคช่อดอกไหม้ และยอดบิดที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Fusarium moniliforme
อภิรัชต์ สมฤทธิ์, พีระวรรณ พัฒนวิภาส, พจนา ตระกูลสุขรัตน์ และกนกทิพย์ เลิศประเสริฐรัตน์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันพืชไร่

          การประเมินสายพันธุ์ข้าวฟ่างหวานที่ต้านทานต่อโรคช่อดอกไหม้และยอดบิดที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Fusarium moniliforme ทำการทดลองมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 จากการทดสอบการเกิดโรคบนข้าวฟ่างพันธุ์ทดสอบจำนวน 6 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ BJ 281, Cowley, Keller, Rio, UTIS 23585 และสายพันธุ์ Wray ในโรงเรือนปลูกข้าวฟ่างที่กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โดยปลูกเชื้อรา F. moniliforme ที่เลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่างลงในดินปลูกข้าวฟ่างหวานสายพันธุ์ทดสอบพบว่า ข้าวฟ่างหวานทุกสายพันธุ์แสดงอาการต้นผอม แคระแกรน และมียอดบิด ภายในลำต้นมีอาการเน่าแดง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคช่อดอกไหม้และยอดบิดที่เกิดจากเชื้อรา F. moniliforme เมื่อนำต้นข้าวฟ่างทุกสายพันธุ์ที่แสดงอาการโรคมาแยกเชื้อราและจำแนกชนิดได้เป็นเชื้อรา F. moniliforme การตรวจและประเมินการเกิดโรคช่อดอกไหม้และลำต้นบิดของต้นข้าวฟ่างหวานจำนวน 6 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ BJ 281, Cowley, Keller, Rio, UTIS 23585 และสายพันธุ์ Wray ในแปลงทดสอบพันธุ์ของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พบว่า จากการประเมินโรคที่เกิดขึ้นในแปลงปลูกในฤดูกาลเก็บเกี่ยวครั้งที่ 1 (เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2551) พบการเข้าทำลายของโรคช่อดอกไหม้และยอดบิด และภายในลำต้นเน่าแดง ในสายพันธุ์ Keller เมื่อนำเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นโรคมาแยกเชื้อและจำแนกชนิดได้เชื้อรา F. moniliforme ส่วนข้าวฟ่างสายพันธุ์อื่น ๆ ยังไม่พบการเข้าทำลาย การประเมินโรคที่เกิดขึ้นในแปลงปลูกในฤดูกาลเก็บเกี่ยวครั้งที่ 2 (เดือนพฤศจิกายน 2551 – กุมภาพันธ์ 2552) พบการเข้าทำลายของโรคช่อดอกไหม้และยอดบิด ในข้าวฟ่างสายพันธุ์ทดสอบทั้ง 6 สายพันธุ์ แต่ระดับการเกิดโรคต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ การประเมินการเกิดโรคช่อดอกไหม้และยอดบิดในต้นข้าวฟ่างหวานอายุ 2 เดือน (เดือนสิงหาคม 2552) และ 3 เดือน (เดือนกันยายน 2552) พบว่า ต้นข้าวฟ่างหวานจำนวน 6 สายพันธุ์ที่ปลูกทดลองไม่แสดงอาการของโรคช่อดอกไหม้และยอดบิด โดยต้นข้าวฟ่างหวานที่ปลูกทุกสายพันธ์เจริญเติบโตได้ดี การสำรวจและประเมินโรคโรคช่อดอกไหม้และยอดบิดของต้นข้าวฟ่างหวานในฤดูปลูกปี 2553 ที่ปลูกในพื้นที่ปลูกของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ไม่พบการเกิดโรคในทุกสายพันธุ์ เช่นเดียวกับการประเมินโรคต้นข้าวฟ่างหวานในแปลงปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.ชัยนาท ไม่พบการเกิดโรคในทุกสายพันธุ์ ส่วนการประเมินโรคต้นข้าวฟ่างหวานในแปลงปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพุทธบาท จ.สระบุรี พบการระบาดของโรคเล็กน้อยในพันธุ์ Cowley สำหรับข้าวฟ่างหวาน 6 สายพันธุ์ที่ปลูกในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อ.อู่ทอง จ.พรรณบุรี เมื่อประเมินโรคช่อดอกไหม้และยอดบิดครั้งที่ 1 ยังไม่พบการเกิดโรคในข้าวฟ่างหวานทุกสายพันธุ์ การประเมินโรคครั้งที่ 2 พบการเกิดโรคบนต้นข้าวฟ่างหวานพันธุ์ Wray ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนต้นพันธุ์ Wray ที่ปลูกทั้งหมด