คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การวิจัยคุณสมบัติการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าของกระเจี๊ยบเขียว - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การวิจัยคุณสมบัติการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าของกระเจี๊ยบเขียว (/showthread.php?tid=866)



การวิจัยคุณสมบัติการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าของกระเจี๊ยบเขียว - doa - 12-22-2015

การวิจัยคุณสมบัติการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าของกระเจี๊ยบเขียว
สุภาพร ธรรมสุระกุล, มณฑิกานธิ์ สงบจิต และนิศารัตน์ ทวีนุต
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ปุ๋ยชีวภาพอาบัสคูลาไมโคไรซ่ามีประโยชน์กับพืชที่สำคัญทางการเกษตรหลายชนิด ทั้งพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชผักส่งออก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพให้ได้มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดสารพิษตกค้าง การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย จึงทำการวิจัยเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าของกระเจี๊ยบเขียว โดยเริ่มทำการสำรวจและรวบรวมเชื้ออาบัสคูลาไมโคไรซ่าจากแปลงปลูกกระเจี๊ยบเขียวในพื้นที่ต่างๆ ทำการทดสอบประสิทธิภาพไมโคไรซ่าในพืชอาศัย และในกระเจี๊ยบเขียว แล้วทำการคัดเลือกอาบัสคูลาไมโคไรซ่าที่ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของกระเจี๊ยบเขียวในกระถาง โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block (RCB) มี 7 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ประกอบด้วย การใส่อาบัสคูลาไมโคไรซ่า 4 สายพันธุ์ เปรียบเทียบกับไม่ใส่อะไรเลย ต่อจากนั้นศึกษาหาวัสดุและสูตรส่วนผสมเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ รวมทั้งศึกษาการมีชีวิตรอดในถุงบรรจุผลิตภัณฑ์ แล้วทำการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอาบัสคูลาไมโคไรซ่าในกระถาง โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB มี 7 ซ้ำ 4 กรรมวิธี ประกอบด้วย การใส่ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่า สูตรใหม่ 3 สูตร เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าสูตรเดิม ได้ทำการทดสอบในแปลงทดลอง วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 5 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ประกอบด้วย กรรมวิธีที่ 1 การใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง กรรมวิธีที่ 2 การใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง และใส่ไมโคไรซ่า กรรมวิธีที่ 3 การใส่ปุ๋ยสูตร 8-8-8 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง และใส่ไมโคไรซ่า กรรมวิธีที่ 4 ไม่ใส่ปุ๋ยไมโคไรซ่า กรรมวิธีที่ 5 ไม่ใส่ปุ๋ยไมโคไรซ่า (control) และในแปลงเกษตรกร วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 7 ซ้ำ 3 กรรมวิธี กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง กรรมวิธีที่ 2 การใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง และใส่ไมโคไรซ่า กรรมวิธีที่ 3 การใส่ปุ๋ยสูตร 8-8-8 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง และใส่ไมโคไรซ่า

          จากการสำรวจและรวบรวมเชื้ออาบัสคูลาไมโคไรซ่าแล้วทำการคัดเลือกพบว่า อาบัสคูลาไมโคไรซ่ามี 2 สายพันธุ์ สามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของกระเจี๊ยบเขียวมากกว่าไม่ใส่อาบัสคูลาไมโคไรซ่า การศึกษาคัดเลือกวัสดุพาหะและสูตรส่วนผสมของผลิตภัณฑ์พบว่า วัสดุและสูตรส่วนผสมวัสดุและสูตรส่วนผสมที่เหมาะสม ได้แก่ หัวเชื้อเข้มข้น 1 ส่วน ผสมกับทราย 1 ส่วน และหัวเชื้อเข้มข้น 1 ส่วน ผสมกับเพอร์ไลท์ 2 ส่วน ซึ่งสามารถเก็บผลิตภัณฑ์ได้นาน 9 เดือน ณ อุณภูมิห้องหรือประมาณ 30 องศาเซลเซียส ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพของส่วนผสมผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอาบัสคูลาไมโคไรซ่าในกระถางพบว่า อาบัสคูลาไมโคไรซ่าสายพันธุ์ใหม่ที่ได้ซึ่งอยู่ในวัสดุพาหะเพอร์ไลท์ 2 ส่วนนั้น สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ หลังจากนั้นได้ทดลองอาบัสคูลาไมโคไรซ่าสายพันธุ์ใหม่ที่ได้ในแปลงทดลองต่อไป ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในแปลงทดลองและแปลงเกษตรกรกำลังดำเนินการ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปผลงานทดลองได้ในขณะนี้ เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบ แต่คาดว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพใหม่ที่มีประสิทธิภาาพดีสำหรับการเพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตของกระเจี๊ยบเขียวอย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์