การบริหารศัตรูส้มโอแบบผสมผสาน - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: การบริหารศัตรูส้มโอแบบผสมผสาน (/showthread.php?tid=861) |
การบริหารศัตรูส้มโอแบบผสมผสาน - doa - 12-22-2015 การบริหารศัตรูส้มโอแบบผสมผสาน สุพัตรา อินทวิมลศรี, บุษบง มนัสมั่นคง, เทวินทร์ กุลปิยะวัฒน์, จันทร์เพ็ญ ประคองวงศ์ และเพ็ญศรี นันทสมสราญ กลุ่มบริหารศัตรูพืช, กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช การบริหารศัตรูส้มโอโดยวิธีผสมผสาน ดำเนินการที่แปลงส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาของเกษตรกรตำบลท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ขนาด 5 ไร่ แบ่งเป็น 2 แปลง โดยเปรียบเทียบระหว่างแปลงเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรทำการป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามวิธีของเกษตรกรเอง แปลง IPM มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยใช้วิธีการผสมผสาน เน้นการสำรวจศัตรูพืชเป็นหลัก ใช้วิธีกล วิธีเขตกรรม และพ่นสารเมื่อจำเป็นโดยคัดเลือกสารที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อศัตรูธรรมชาติ ผู้ใช้ ตลอดจนผู้บริโภค สำหรับแมลงใช้ระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจทำการป้องกันกำจัด ผลการดำเนินงานระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 พบการระบาดของเพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และไรขาวถึงระดับเศรษฐกิจ สารป้องกันกำจัดแมลงและไรที่ใช้ ได้แก่ สาร imidacloprid, carbosulfan pretoleum spray oil และ pyridaben ส่วนโรคแคงเกอร์ และโรคที่เกิดจากเชื้อราอื่น ๆ หลังจากเก็บใบและผลส้มโอที่เป็นโรคออกก่อนฤดูฝน มีการพ่นสาร คือ copper hydroxide, carbendazim และ mancozeb แปลง IPM ในปีที่ 2 และ 3 มีการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงอย่างเดียว 1 ครั้ง พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและโรค 3 ครั้ง รวมพ่นสารกำจัดศัตรูส้มโอ 4 ครั้ง ส่วนแปลงเกษตรกร มีการพ่นสารโดยไม่มีการสำรวจศัตรูพืชจำนวน 4 ครั้ง โดยสารที่ใช้ คือ abamectin, chlorpyrifos, amitraz และ propagite สารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ใช้ คือ copper hydroxide, carbendazim และ mancozeb และในปีที่ 3 ใช้ชีววิธีร่วมในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงด้วย ส่วนการกำจัดวัชพืชใช้วิธีการตัด ไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืชทั้ง 2 แปลง การเก็บเกี่ยวผลผลิตพบว่า ปริมาณผลผลิตไม่แตกต่างกันมากนัก คุณภาพผิวผลผลิตของแปลง IPM ด้อยกว่าแปลงเกษตรกรเล็กน้อย
|