คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ศึกษาการสลายตัวและการปลดปล่อยไนโตรเจนของแหนแดงในการผลิตมะเขือเทศเชอรี่ในสภาพกระถาง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: ศึกษาการสลายตัวและการปลดปล่อยไนโตรเจนของแหนแดงในการผลิตมะเขือเทศเชอรี่ในสภาพกระถาง (/showthread.php?tid=810)



ศึกษาการสลายตัวและการปลดปล่อยไนโตรเจนของแหนแดงในการผลิตมะเขือเทศเชอรี่ในสภาพกระถาง - doa - 12-21-2015

ศึกษาการสลายตัวและการปลดปล่อยไนโตรเจนของแหนแดงในการผลิตมะเขือเทศเชอรี่ในสภาพกระถางทดลอง
ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต, นิศารัตน์ ทวีนุต และประไพ ทองระอา
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ศึกษาการสลายตัวและการปลดปล่อยไนโตรเจนของแหนแดงต่อสมบัติทางเคมีของดินปลูกพืชโดยการใส่แหนแดงอัตราต่างๆ คือ 3 4 5 และ 6 ตันต่อไร่ ร่วมกับการใส่ปุ๋ยทริปเปิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต และการใส่หินฟอสเฟตกับจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตพบว่า ในระยะ 7 วันแรกนั้น ดินที่ใส่แหนแดง 3 และ 4 ตันต่อไร่ เพียงอย่างเดียวมีแนวโน้มในการปลดปล่อยปริมาณแอมโมเนียมออกมาสูงที่สุด และลดลงอย่างรวดเร็วในระยะ 21 วัน ในขณะที่ตำรับการทดลองที่ใส่แหนแดง 3 และ 4 ตันต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยทริปเปิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟตปลดปล่อยแอมโมเนียมออกมาค่อนข้างคงที่ตั้งแต่ในระยะแรกถึงระยะ 21 วัน ก่อนที่จะลดลงอย่างรวดเร็วในทุกตำรับการทดลองในระยะสิ้นสุดการทดลอง (98 วัน) สำหรับปริมาณไนเตรทที่ปลดปล่อยออกมานั้นทุกตำรับการทดลองมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันคือ สูงขึ้นในระยะ 21 วันแรก และลดต่ำลงในระยะ 98 วัน การใส่แหนแดงเพียงอย่างเดียว หรือการใส่แหนแดงร่วมกับการใส่ปุ๋ยทริปเปิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต หรือร่วมกับการใส่หินฟอสเฟตกับจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตนั้น มีผลทำให้ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินไม่ลดลงจากระยะ 21 วัน ถึงระยะ 98 วัน ในขณะที่ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในตำรับควบคุมมีแนวโน้มลดลง

          เมื่อศึกษาผลของแหนแดงต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของมะเขือเทศเชอรี่ การใช้แหนแดงอัตราต่างๆ คือ 3 4 5 และ 6 ตันต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีทริปเปิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต และการใส่แหนแดงร่วมกับหินฟอสเฟตกับจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต ไม่มีผลทำให้ความสูงของต้นมะเขือเทศเชอรี่แตกต่างกันทางสถิติ ส่วนทรงพุ่มของมะเขือเทศเชอรี่พบว่า ใช้แหนแดงอัตรา 6 ตันต่อไร่ ร่วมกับหินฟอสเฟตและจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตมีผลทำให้ทรงพุ่มของมะเขือเทศเชอรี่มีค่าสูงที่สุดคือ 55 เซนติเมตร สำหรับน้ำหนักสดของต้น และรากมะเขือเทศเชอรี่ รวมถึงน้ำหนักผลต่อต้น และน้ำหนักผลดฉลี่ยนั้นพบว่า การใช้แหนแดงร่วมกับปุ๋ยทริปเปิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต หรือร่วมกับหินฟอสเฟตและจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตมีผลทำให้มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าการใช้แหนแดงเพียงอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ