คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การใช้เหยื่อโปรตีนเพื่อป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในฝรั่ง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การใช้เหยื่อโปรตีนเพื่อป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในฝรั่ง (/showthread.php?tid=773)



การใช้เหยื่อโปรตีนเพื่อป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในฝรั่ง - doa - 12-09-2015

การใช้เหยื่อโปรตีนเพื่อป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในฝรั่ง
วิภาดา ปลอดครบุรี, สัญญาณี ศรีคชา, เกรียงไกร จำเริญมา และศรุต สุทธิอารมณ์
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาการใช้เหยื่อโปรตีนเพื่อป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในฝรั่ง ดำเนินการทดลองในระหว่างปี 2549 – 2553 ทำการทดสอบหาสารฆ่าแมลงที่เหมาะสมในการผสมกับเหยื่อโปรตีนดีโอเอเบท (DOA bait) เพื่อใช้ป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ ในห้องปฏิบัติการของกลุ่มบริหารศัตรูพืช ดำเนินการทดลอง 2 การทดลอง วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ10 กรรมวิธี โดยแต่ละกรรมวิธีใช้เหยื่อโปรตีน DOA Bait อัตรา 200 มิลลิลิตร ผสมสารฆ่าแมลงชนิดและอัตราต่าง ๆ ในน้ำ 5 ลิตร ดังนี้ ผสมด้วยสารฆ่าแมลง malathion 57% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร, profenofos 50% EC อัตรา 7.5 มิลลิลิตร, triazophos 40% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร, deltamethrin 3% EC อัตรา 5 มิลลิลิตร, lambda cyhalothrin 2.5% CS อัตรา 5 มิลลิลิตร, dinotefuran 10% WP อัตรา 1 กรัม, imidacloprid 70% WG อัตรา 0.125 กรัม และ thiamethoxam 25% WG อัตรา 1.25 กรัม โดยใช้ malathion 83% EC อัตรา 70 มิลลิลิตร เป็นสารเปรียบเทียบ และกรรมวิธีไม่ผสมสารฆ่าแมลง ตามลำดับ พบว่า กรรมวิธีที่ผสมด้วยสารฆ่าแมลงในกลุ่มออกาโนฟอสเฟต ได้แก่ malathion 57% EC, profenofos 50% EC และ triazophos 40% EC มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงวันผลไม้ชนิด B.dorsalis ได้ดีทั้งสองการทดลอง และสาร malathion 57% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร สามารถใช้ทดแทนสารเปรียบเทียบ malathion 83% EC ได้

          การศึกษาเหยื่อโปรตีนอินไวท์ (Invite) พบว่า สามารถดึงดูดแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis และ B. correcta ได้ดีกว่าเหยื่อโปรตีนดีโอเอเบท (เหยื่อโปรตีนเปรียบเทียบ) ส่วนการศึกษาอัตราการใช้เหยื่อโปรตีนอินไวท์ วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ มี 5 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีใช้เหยื่อโปรตีนอินไวท์อัตรา 200, 300, 400, 500 มิลลิลิตร ในน้ำ 5 ลิตร เปรียบเทียบกับเหยื่อโปรตีนดีโอเอทเบทอัตรา 200 มิลลิลิตรในน้ำ 5 ลิตร (เหยื่อโปรตีนเปรียบเทียบ) พบว่า เหยื่อโปรตีนอินไวท์อัตรา 200 มิลลิลิตร ในน้ำ 5 ลิตร ดึงดูดแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis และ B. correcta ได้ดีกว่าเหยื่อโปรตีนเปรียบเทียบ และการศึกษาประสิทธิภาพสารฆ่าแมลงที่เหมาะสมในการผสมกับเหยื่อโปรตีนอินไวท์ เพื่อใช้เป็นเหยื่อพิษในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ มี 10 กรรมวิธี โดยแต่ละกรรมวิธีใช้เหยื่อโปรตีนอินไวท์อัตรา 200 มิลลิลิตร ผสมสารฆ่าแมลงชนิดและอัตราต่าง ๆ ในน้ำ 5 ลิตร ดังนี้ ผสมด้วยสารฆ่าแมลง profenofos 50% EC อัตรา 7.5 มิลลิลิตร, imidacloprid 70% WG อัตรา 2.5 กรัม, thiamethoxam 25% WG อัตรา 2.5 กรัม, dinotefuran 10% WP อัตรา 2.5 กรัม, triazophos 40% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร, malathion 57% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร, fipronil 5% SC อัตรา 5 มิลลิลิตร, lambda-cyhalothrin 2.5% CS อัตรา 5 มิลลิลิตร และ deltametrhin 3% EC อัตรา 5 มิลลิลิตร และกรรมวิธีไม่ผสมสารฆ่าแมลงพบว่า สารฆ่าแมลงทุกชนิดและอัตราดังกล่าวผสมกับเหยื่อโปรตีนอินไวท์ มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงวันผลไม้ชนิด B.dorsalis ได้ดีไม่แตกต่างกัน และการทดสอบการใช้เหยื่อพิษโปรตีนอินไวท์เพื่อป้องกันกำจัดแมลงวัน ผลไม้ในระดับสวนพบว่า การพ่นด้วยเหยื่อพิษโปรตีนโดยผสมสารฆ่าแมลง malathion 57% EC อัตรา 10 มิลลิลิตร กับเหยื่อโปรตีนอินไวท์อัตรา 200 มิลลิลิตร ในน้ำ 5 ลิตร พ่นเหยื่อพิษโปรตีนเป็นแถบทุกสัปดาห์ เริ่มพ่นตั้งแต่ฝรั่งติดผลประมาณ 1 เดือนหลังดอกบาน สามารถช่วยลดการเข้าทำลายจากแมลงวันไม้ในฝรั่งได้