คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอาบัสคูลาไมโคไรซ่าสำหรับพริก - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอาบัสคูลาไมโคไรซ่าสำหรับพริก (/showthread.php?tid=718)



การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอาบัสคูลาไมโคไรซ่าสำหรับพริก - doa - 12-08-2015

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพอาบัสคูลาไมโคไรซ่าสำหรับพริก
มณฑิกานธิ์ สงบจิต, สุภาพร ธรรมสุระกุล และนิศารัตน์ ทวีนุต
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ได้สำรวจรวบรวม และจำแนกชนิดราอาบัสคูลาไมโคไรซ่าจากแปลงเกษตรกรที่ปลูกพริก ในบริเวณพื้นที่ 7 จังหวัด จำนวน 35 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจากจังหวัดชุมพร จำนวน 6 ตัวอย่าง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 10 ตัวอย่าง จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 5 ตัวอย่าง จังหวัดราชบุรี จำนวน 5 ตัวอย่าง จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 3 ตัวอย่าง จังหวัดสระแก้ว จำนวน 3 ตัวอย่าง และจังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 ตัวอย่าง นำมาร่อนด้วยวิธี Wet Seiving and Decanting นับปริมาณสปอร์ จำแนกชนิดราอาบัสคูลาไมโคไรซ่า ทดสอบประสิทธิภาพของราอาบัสคูลาไมโคไรซ่าในพืชอาศัย (หญ้ารูซี่) ในกระถาง จากนั้นเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการเข้าอาศัยในรากและเพิ่มปริมาณสปอร์ได้ดี จำนวน 16 สายพันธุ์ มาทดสอบประสิทธิภาพของราอาบัสคูลาไมโคไรซ่าในกระถางพริก แล้วคัดเลือกราอาบัสคูลาไมโคไรซ่าที่มีประสิทธิภาพสูงจำนวน 4 สายพันธุ์ จาก 16 สายพันธุ์

          จากการจำแนกชนิดอาบัสคูลาไมโคไรซ่าพบว่า มีทั้งหมด 35 สายพันธุ์ genus ที่พบในการสำรวจจากมากไปน้อยคือ Glomus, Acaulospora และ Gigaspora การทดสอบประสิทธิภาพของราอาบัสคูลาไมโคไรซ่าในพืชอาศัย (หญ้ารูซี่) ในกระถางพบว่า สามารถเพิ่มปริมาณสปอร์ในกระถางได้มากที่สุดจากตัวอย่างรหัส DAKB 5204 คือ 1,827 สปอร์/ดิน 100 กรัม เปอร์เซ็นต์การเข้าอาศัยในราก 23.33% แต่มีเปอร์เซ็นต์เข้าอาศัยในรากน้อยกว่าตัวอย่างรหัส DAKB 5202 ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์เข้าอาศัยในรากสูงสุด 53.33% มีปริมาณสปอร์ 266 สปอร์/ดิน 100 กรัม สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการเข้าอาศัยในรากและเพิ่มปริมาณสปอร์ได้ดี จะถูกคัดเลือกมาทดสอบประสิทธิภาพของราอาบัสคูลาไมโคไรซ่าในพริก โดยแบ่งการทดลองเป็น 3 ชุด ชุดที่ 1 ทำการทดลองวางแผนแบบ CRD มี 4 ซ้ำ 9 กรรมวิธี ประกอบด้วยการใส่อาบัสคูลาไมโคไรซ่า 8 สายพันธุ์ และไม่ใส่อะไรเลย หลังจากนั้นคัดเลือกราอาบัสคูลาไมโคไรซ่าที่มีประสิทธิภาพดีกว่าสายพันธุ์อื่นจากชุดที่ 1 และ 2 คือ DAKA 5209, DASK 5201, DAKA 5202 และ DACH 5204 ทำการทดลองในชุดที่ 3 โดยการวางแผนการทดลองแบ CRD มี 7 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ในทุกกรรมวิธีใส่ปุ๋ยคอก 3.33 กรัมต่อกระถาง และใส่ปุ๋ยเคมีอัตราครึ่งสูตรของอัตราแนะนำคือ 0.87 กรัมต่อกระถาง พบว่าสายพันธุ์จากตัวอย่างรหัส DACH 5204 มีประสิทธิภาพสูงสุดในการส่งเสริมการเจริญเติบโตให้แก่พริก