การใช้ไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans) ควบคุมไรศัตรูกุหลาบอย่างยั่งยืน - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: การใช้ไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans) ควบคุมไรศัตรูกุหลาบอย่างยั่งยืน (/showthread.php?tid=716) |
การใช้ไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans) ควบคุมไรศัตรูกุหลาบอย่างยั่งยืน - doa - 12-08-2015 การใช้ไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans) ควบคุมไรศัตรูกุหลาบอย่างยั่งยืน มานิตา คงชื่นสิน, พิเชฐ เชาว์วัฒนวงศ์ และพลอยชมพู กรวิภาสเรือง สำนักวิจัยอารักขาพืช ไรเป็นศัตรูที่สำคัญของกุหลาบ เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารฆ่าไรในการป้องกันกำจัดเป็นปริมาณมาก งานวิจัยนี้จึงได้ทำการทดสอบการใช้ไรตัวห้ำทดแทนการใช้สารฆ่าไร ขั้นตอนแรกทำการศึกษาผลกระทบของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดต่างๆ ที่มีต่อไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans) เพื่อทราบชนิดสารที่ปลอดภัยต่อไรตัวห้ำ สามารถนำไปใช้ป้องกันกำจัดศัตรูกุหลาบอื่นที่สำคัญร่วมกับการปล่อยไรตัวห้ำ ทำการทดลองที่กลุ่มงานวิจัยไรและแมงมุม ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 - กันยายน 2550 ผลการทดสอบพบว่า สารฯ ที่ปลอดภัยต่อไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของไรตัวห้ำ ได้แก่ สาร buprofezin, carbendazim, dinotefuran, fenbutatin oxide, fenpyroximate, fenobucarb, imidacloprid และ validamycin สารที่มีพิษเล็กน้อยต่อไรตัวห้ำ ได้แก่ สาร acetamiprid, carbendazim + mancozeb, indoxacarb, mancozeb, petroleum oil, propargite, pyridaben, sulfur และ tebufenizide จากนั้นทำการทดสอบการใช้ไรตัวห้ำ A. longispinosus (Evans) ควบคุมไรศัตรูกุหลาบ 2 ชนิด ได้แก่ ไรแมงมุมคันวาวา, tetranychus kanzawai Kishida และไรสองจุด, T. urticae Koch เปรียบเทียบกับการพ่นสารฆ่าไร ดำเนินการทดลองในไร่กุหลาบของเกษตรกร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2550 - ตุลาคม 2551 ผลการทดลองพบว่า การปล่อยไรตัวห้ำในอัตรา 9-10 ตัวต่อต้น ทุก 2-3 สัปดาห์ สามารถควบคุมไรศัตรูกุหลาบได้ดีกว่าการใช้สารฆ่าไร จำนวนไรศัตรูกุหลาบในแปลงย่อยไรตัวห้ำมีน้อยกว่าและแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญจากจำนวนไรศัตรูกุหลาบในแปลงพ่นสารฆ่าไร ในปีต่อมา (ตุลาคม 2551 - กันยายน 2552) ทำการทดลองลดอัตราการปล่อยไรตัวห้ำลงเหลือ 3-4 ตัวต่อต้น ผลพบว่า ไรตัวห้ำสามารถควบคุมไรศัตรูกุหลาบได้ตลอดปีเช่นกัน โดยในช่วงแรกหากพบไรศัตรูกุหลาบระบาดมากให้ปล่อยไรตัวห้ำร่วมกับการพ่นสารฆ่าไรที่ปลอดภัยต่อไรตัวห้ำเฉพาะบริเวณที่พบการระบาด และเพื่อยืนยันผลการทดลองจึงทำการทดลองปล่อยไรตัวห้ำอัตรา 3-4 ตัวต่อต้น ทุก 1 เดือน ต่อเนื่องอีก 1 ปี (ตุลาคม 2552 - กันยายน 2553) ผลการทดลองพบว่า ไรตัวห้ำสามารถควบคุมไรศัตรูกุหลาบทดแทนการใช้สารฆ่าไรได้อย่างยั่งยืนโดยผสมผสานการใช้ไรตัวห้ำร่วมกับการใช้สารฆ่าแมลงและโรค เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูกุหลาบชนิดอื่นได้ ในการทดลองครั้งนี้ได้แนะนำให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงไรตัวห้ำใช้เอง มีต้นทุน 0.001-0.002 บาทต่อตัว
|