คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานในการผลิตถั่วเหลืองฝักสด - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานในการผลิตถั่วเหลืองฝักสด (/showthread.php?tid=707)



การใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานในการผลิตถั่วเหลืองฝักสด - doa - 12-08-2015

การใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานในการผลิตถั่วเหลืองฝักสด
ภาวนา ลิกขนานนท์, สุปรานี มั่นหมาย และวิทยา ธนานุสนธิ์
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          การทดลองกับถั่วเหลือง ในสภาพเรือนทดลอง (ปี 2549-2550) ในดินร่วนทรายและดินร่วนเหนียว และสภาพไร่ (ปี 2551-2553) ในดินร่วนทราย การทดลองในสภาพเรือนทดลอง ใช้ปุ๋ย 3 ชนิด ดังนี้ (1) ปุ๋ยเคมี (ปุ๋ยไนโตรเจน 2 อัตราคือ ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 12 และ 20 กิโลกรัมไนโตรเจนต่อไร่ ปุ๋ยฟอสเฟต 9 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยโพแทช 6 กิโลกรัมต่อไร่) (2) ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมักมูลโค 2 อัตราคือ 2 และ 3 ตันต่อไร่) (3) ปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมและปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต) และวัสดุอินทรีย์เหลือใช้ทางการเกษตร (แกลบเผาอัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่) โดยใช้ถั่วเหลืองฝักสด 2 พันธุ์คือ เชียงใหม่ 1 และ AGS 292 พบว่า ในดินร่วนทรายและดินร่วนเหนียวทุกกรรมวิธีที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมให้น้ำหนักฝักสดไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากกรรมวิธีที่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนทั้ง 2 อัตรา และกรรมวิธีที่ไม่ใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมและไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน โดยกรรมวิธีที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมร่วมกับปุ๋ยหมักมูลโคอัตรา 3 ตันต่อไร่ ให้น้ำหนักฝักสดของถั่วเหลืองทั้ง 2 พันธุ์สูงที่สุด ส่วนการทดลองในสภาพไร่ใช้ผลจากการทดลองในสภาพเรือนทดลองกำหนดกรรมวิธีโดยใช้ปุ๋ย 3 ชนิด ดังนี้ (1) ปุ๋ยเคมี (ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 20 กิโลกรัมไนโตรเจนต่อไร่ ปุ๋ยฟอสเฟต 9 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยโพแทช 6 กิโลกรัมต่อไร่) (2) ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมักมูลโคอัตรา 2 ตันต่อไร่) (3) ปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมและปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต) และวัสดุอินทรีย์เหลือใช้ทางการเกษตร (แกลบเผาอัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่) ทดลองกับถั่วเหลืองฝักสด 2 พันธุ์ คือ เชียงใหม่ 1 และ AGS 292 พบว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมทุกกรรมวิธีมีแนวโน้มให้ผลผลิตถั่วเหลืองฝักสดสูงกว่าการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 20 กิโลกรัมไนโตรเจนต่อไร่ จากการทดลองแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าสามารถใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมทดแทนปุ๋ยไนโตรเจนได้ 100 เปอร์เซ็นต์