คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองในเรือนทดลอง - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองในเรือนทดลอง (/showthread.php?tid=701)



การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองในเรือนทดลอง - doa - 12-08-2015

การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองในเรือนทดลอง
กาญจนา วาระวิชานี, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุมนา งามผ่องใส และเชาวนาถ พฤทธิเทพ
กลุ่มงานไวรัสวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่

          โรคไวรัสใบด่างเหลืองถั่วเขียว (Mumg Bean Yellow Mosaic Virus, MYMV) สร้างความเสียหายให้กับพืชตระกูลถั่วได้ทุกระยะการเจริญเติบโตโดยเฉพาะถั่วเขียวผิวมัน เมื่อโรคเข้าทำลายในระยะต้นกล้าจะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้เลย ดังนั้น นักปรับปรุงพันธุ์จึงพยายามปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวให้ต้านทานโรค ทั้งนี้ต้องมีวิธีการคัดเลือกพันธุ์ดีและมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย ในปี 2552 - 2553 ทางกลุ่มงานไวรัสวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาททดสอบคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวต้านทานโรคภายในโรงเรือนให้จำนวนปีละ 11 และ 12 สายพันธุ์ ตามลำดับ โดยนำถั่วเขียวทุกสายพันธุ์มาปลูกเชื้อไวรัส MYMV ด้วยแมลงหวี่ขาว และสังเกตอาการภายในเรือนทดลองเป็นเวลารวม 45 วัน หลังจากนั้นประเมินความรุนแรงของโรคจากการสังเกตด้วยตาเปล่าและอ้างอิงเกณฑ์ Disease Scoring Scale (1-9) for MYMV (Sadiq et al., 2006) และตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัส MYMV ด้วยเทคนิค PCR โดยใช้ specific primer สรุปผลได้ดังนี้ ในปี 2552 จากการสังเกตโรคด้วยตาเปล่าพบถั่วเขียว 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6601, NM 94-10, VC-07-1-1 มีแนวโน้มนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ได้ การเข้าทำลายของโรคอยู่ที่ 20%, 30% และ 50% คือพืชแสดงความต้านทานโรคปานกลาง ทนทานโรค และทนทานโรคปานกลาง ตามลำดับ และพบถั่วเขียว 5 สายพันธุ์ ไม่แสดงแถบดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส MYMV ที่ขนาดประมาณ 1000 นิวคลีโอไทด์ ได้แก่ 6601, VC-07-1-1, VC02-3-5, NM94-10 และ Ramzan สายพันธุ์ละ 4, 3, 3, 2 และ 2 ตามลำดับ ในปี 2553 ถั่วเขียวทุกสายพันธุ์ที่ทดสอบพบการเข้าทำลายของโรคอยู่ระหว่าง 60 - 90% คือ พืชแสดงความอ่อนแอต่อโรคถึงอ่อนแอต่อโรคมาก อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตโรคด้วยตาเปล่าถัวเขียวสายพันธุ์ NM92 x CN72, NM92 x KPS2 และ NM54 x CN72 แสดงอาการด่างเหลืองน้อยกว่าพันธุ์อื่น ๆ ที่ทดสอบ และพบถั่วเขียว 7 สายพันธุ์ ไม่แสดงแถบดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส MYMV ที่ขนาดประมาณ 1000 นิวคลีโอไทด์ ได้แก่ ถั่วเขียว CN72 x NM54, NM54 x CN72, NM54 x SUT1, NM92 x SUT1 สายพันธุ์ละ 2 ต้น และ NM92 x CN72, KPS2 x NM54, NM92 x KPS สายพันธุ์ละ 1 ต้น จึงทำการเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นดังกล่าวให้ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทนำไปปรับปรุงพันธุ์ต่อไป