วิจัยการใช้หนอนตายหยากและหางไหลเพื่อกำจัดหนูศัตรูพืช - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: วิจัยการใช้หนอนตายหยากและหางไหลเพื่อกำจัดหนูศัตรูพืช (/showthread.php?tid=696) |
วิจัยการใช้หนอนตายหยากและหางไหลเพื่อกำจัดหนูศัตรูพืช - doa - 12-04-2015 วิจัยการใช้หนอนตายหยากและหางไหลเพื่อกำจัดหนูศัตรูพืช กรแก้ว เสือสะอาด, ปราสาททอง พรหมเกิด, ดาราพร รินทะรักษ์, ทรงทัพ แก้วตา, รัตนาภรณ์ พรหมศรัทธา และพรรณีกา อัตตนนท์ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดหนอนตายหยากและหางไหลอัตราต่างๆ กับหนูพุกใหญ่ หนูพุกเล็ก และหนูท้องขาวบ้านตามวิธีการของ ASTM (1977) และ EPPO (1975) โดยให้สารละลายสารสกัดทางปากอัตราต่าง ๆ กับหนู กลุ่มละ 10 ตัว บันทึกอาการและการตายของหนูภายใน 14 วัน วิเคราะห์หาค่าความเป็นพิษของหนอนตายหยากและหางไหลตามวิธีการของ Finney,1971 ผลปรากฏว่า ค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากของสารสกัดหนอนตายหยากที่มีต่อหนูพุกใหญ่ 142.6 มก./กก. หนูพุกเล็ก 365.35 มก./กก. และหนูท้องขาวบ้าน 388.54 มก./กก.ตามลำดับ และค่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากของสารสกัดหางไหลที่มีต่อหนูพุกใหญ่ 3.69 มก./กก. และหนูท้องขาวบ้าน 31.66 มก./กก ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% สำหรับ การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดหนอนตายหยากและหางไหลกับหนูท้องขาวบ้าน วางแผนการทดลองแบบ CRD โดยสุ่มให้เหยื่อหนอนตายหยากอัตรา 0.1%, 3% เป็นเวลา 2 วัน และเหยื่อหางไหลอัตรา 0.3%, 1%, 2% เป็นเวลา 1 วัน กับหนูท้องขาวบ้าน ผลปรากฏว่า หนูกินเหยื่อหนอนตายหยากเฉลี่ย 98.74 และ 474.90 มก./กก. และเหยื่อหางไหลเฉลี่ย 190.34, 330.42 และ 385.30 มก/กก. ปริมาณเหยื่อพิษทั้ง 2 ชนิดที่หนูกินไม่มีผลทำให้หนูตาย การศึกษาผลกระทบของสารสกัดหนอนตายหยากและหางไหลกับปลานิล อายุ 1 เดือน โดยให้สารสกัดอัตราความเข้มข้นต่าง ๆ กับปลานิลทั้งในตู้กระจกและบ่อซิเมนต์ที่มีดินก้นบ่อตามวิธีการของ ASTM (1980) โดยวางแผนการทดลองแบบ CRD ให้สารสกัดอัตราต่าง ๆ กับปลานิล อัตราละ 3 ซ้ำ ๆ ละ 10 ตัว บันทึกอาการ และการตายของปลาภายใน 96 ชั่วโมง และหาค่าความเป็นพิษเฉียบพลัน (LC50) ด้วยโปรแกรมโพรบิท ผลการศึกษาพบว่า ปลาที่ได้รับสารพิษมีอาการเลือดออกทางเหงือก ว่ายน้ำช้าอยู่ก้นตู้กระจก เสียการทรงตัวก่อนตาย และสารสกัดหางไหลมีผลต่อเนื้อเยื่อเหงือกปลา และเมื่อทดสอบในตู้กระจกค่าความเป็นพิษเฉียบพลัน (LC50) ของสารสกัดหนอนตายหยากต่อปลานิล 106.84 พีพีเอ็ม และค่า LC50 ของสารสกัดหางไหลต่อปลานิล 0.3774 พีพีเอ็ม สำหรับค่า LC50 ของสารสกัดหางไหลที่มีต่อปลานิลมีค่า 0.9472 พีพีเอ็ม เมื่อทดสอบในบ่อซิเมนต์ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
|