คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาดของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาดของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (/showthread.php?tid=661)



การพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาดของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - doa - 12-04-2015

การพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาดของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พัชรินทร์  ศรีวารินทร์ และจุมพฏ  สุขเกื้อ
กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ  สถาบันวิจัยยาง

             การพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาดของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการจัดการและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของสมาชิกของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และเพื่อทราบสภาพปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการสัมภาษณ์ผู้นำและสมาชิกของสถาบันเกษตรกร จากการศึกษาพบว่า สถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน 490 แห่ง แบ่งเป็นสหกรณ์ 127 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 363 โดยการปฏิบัติงานของสถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของสหกรณ์ พิจารณาจากจำนวนของสถาบันเกษตรกรที่รายงานบัญชีกับกรมตรวจบัญชีเพียง 74 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.10 ส่วนที่เหลือเป็นเพียงการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิตยางและเปิดให้ประมูล แต่มิได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของสหกรณ์

          ในส่วนของสภาพการผลิต การแปรรูป และการตลาดสถาบันเกษตรกรพบว่า สถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่ดำเนินการรวบรวมผลผลิตยางพาราทั้งยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วย และเปิดให้ผู้ประกอบการประมูลหรือทำการตกลงราคา ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับราคาที่เป็นธรรม ไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น ในส่วนของกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การแปรรูปผลผลผลิต การรับฝากเงินหรือถอนเงิน การให้กู้ยืม และการจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์การเกษตร มีการดำเนินการน้อยมาก เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการและไม่มีสถานที่ทำการที่แน่นอนอาศัยพื้นที่ส่วนบุคคลหรือเช่าพื้นที่ทำการ

          ทัศนคติต่อกระบวนการจัดการและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของสมาชิก กรรมการและสมาชิกของสถาบันเกษตรกรมีระดับทัศนคติต่อกระบวนการจัดการและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในระดับมาก ยกเว้นการได้รับข่าวสารทางการเกษตรจากสื่อต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ การเสนอความคิดเห็นทุกครั้งเมื่อเข้าร่วมประชุมกลุ่ม และการได้รับการฝึกอบรมความรู้ทางการเกษตรจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างสม่ำเสมอ มีทัศนคติระดับปานกลาง