คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ศึกษาการจัดการโรคพืชที่เหมาะสมในการผลิตแก้วมังกร - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: ศึกษาการจัดการโรคพืชที่เหมาะสมในการผลิตแก้วมังกร (/showthread.php?tid=650)



ศึกษาการจัดการโรคพืชที่เหมาะสมในการผลิตแก้วมังกร - doa - 12-04-2015

ศึกษาการจัดการโรคพืชที่เหมาะสมในการผลิตแก้วมังกร
พรพิมล อธิปัญญาคม, สุณีรัตน์ สีมะเดื่อ, ชนินทร ดวงสอาด และศรีสุรางค์ ลิขิตเอกราช
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักผู้เชี่ยวชาญ

          การจัดการอารักขาพืชที่เหมาะสมในการผลิตแก้วมังกร การศึกษาในด้านของโรคพืช โดยการศึกษาเชื้อสาเหตุของโรคที่สำคัญของแก้วมังกรเพื่อการจัดการอารักขาพืชที่เหมาะสมในการผลิตแก้วมังกร ระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนกันยายน 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุของโรคที่สำคัญของแก้วมังกร รวมทั้งประเมินการเกิดและความรุนแรงของโรค ตลอดจนการป้องกันกำจัดในเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการอารักขาพืชที่เหมาะสมในการผลิตแก้วมังกร โดยทำการเก็บตัวอย่างส่วนที่เป็นโรคของ ดอก ลำต้น และผล โดยทำการสำรวจจำนวน 40 ครั้ง 35 สวน ในจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี ระยอง จันทบุรี สมุทรปราการ นครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงราย และกรุงเทพฯ นำมาศึกษาแยกเชื้อโดยวิธี Tissue Transplantings และศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของราภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบ stereo และ compound พบโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคเน่าเปียก (wet rot) โรคผลเน่า (Fruit rot) โรคลำต้นจุด (Stem spot) และโรคแอนแทรคโนส (Anthracnose) บนลำต้น จากการศึกษาจำแนกชนิดสาเหตุโรคของแก้วมังกรพบเชื้อสาเหตุดังนี้ โรคเน่าเปียกพบสาเหตุคือ รา Chaonephora sp. และ Aspergillus niger พบราทั้งสองชนิดนี้เข้าทำลายส่วนของดอกแก้วมังกร โรคผลเน่าพบการเข้าทำลายของราแตกต่างกันไป ได้แก่ Bipolaris cactivora, Colletotrichum capsici, C. gloeosporioides และ Dothiorella sp. เข้าทำลายที่ผลของแก้วมังกรทำให้เกิดโรคผลเน่า และรา C. capsici มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคและความรุนแรงของโรคมากที่สุดเท่ากับ 32.50 และ 10.00 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับการศึกษาโรคลำต้นจุดได้จำแนกชนิดเชื้อสาเหตุคือ รา Dothiorella sp. จากการศึกษาโรคนี้มีความรุนแรงต่อการผลิตแก้วมังกรมากพบการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคมากที่สุดในจังหวัดจันทบุรี มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรค และความรุนแรงของโรคเท่ากับ 65.30 และ 82.50 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนโรคแอนแทรคโนสที่เกิดบนลำต้นสาเหตุเกิดจาก C. gloeosporioides พบเปอร์เซ็นต์การเกิดและความรุนแรงของโรคน้อยกว่าโรคผลจุด จากการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการพิสูจน์โรคผลเน่าที่เกิดจากราสาเหตุทั้ง 4 ชนิด โรคลำต้นจุด และโรคแอนแทรคโนสที่เกิดบนลำต้น พบว่าราสามารถทำให้เกิดโรคที่ผลและลำต้นของแก้วมังกร และเมื่อแยกเชื้อกลับบนอาหาร PDA สามารถตรวจพบราชนิดเดิมที่แยกได้จากผลและลำต้นของแก้วมังกร

          ผลของการศึกษาครั้งนี้พบว่าโรคลำต้นจุดเป็นโรคที่สำคัญมากโรคหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาของการผลิตแก้วมังกร และพบว่าการจัดการควบคุมโรคพืชโดยวิธีเขตกรรม ได้แก่ การตัดแต่งกิ่ง และการเก็บส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกมีส่วนในการป้องกันกำจัดโรคพืชเบื้องต้น