คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
จุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: จุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช (/showthread.php?tid=645)



จุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช - doa - 12-04-2015

จุลินทรีย์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
ชนินทร ดวงสอาด, พรพิมล อธิปัญญาคม และสุณีรัตน์ สีมะเดื่อ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         จากการแยกเชื้อราเอ็นโดไฟท์จากต้นคะน้าปกติที่ไม่มีการเข้าทำลายของโรคและแมลง โดยนำส่วนของใบและลำต้นมาฆ่าเชื้อที่ผิวด้วยวิธี triple surface sterilization ได้เชื้อราที่สามารถจัดกลุ่มเป็น 4 taxa คือ Alternaria spp., Nigrospora sp., Pestalotiopsis sp. และ Mycelia Sterilia และคัดเลือกเชื้อราเอ็นโดไฟท์ที่มีอัตราการเจริญเร็วที่สุดจำนวน 5 ไอโซเลท มาทำการทดสอบผลต่อความงอกของเมล็ดคะน้าพบว่า เชื้อราเอ็นโดไฟท์ 4 ไอโซเลท ยกเว้น Alternaria1 มีเปอร์เซ็นต์ความงอกไม่แตกต่างกันทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม และผลต่อการเจริญเติบโตของคะน้าในระยะต้นกล้า เมื่อวัดผลจากน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของต้นกล้าพบว่า ต้นกล้าที่ปลูกด้วยเชื้อราเอ็นโดไฟท์ Nigrospora sacchari มีน้ำหนักมากที่สุด แต่ทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุมซึ่งไม่ได้ปลูกด้วยเชื้อราเอ็นโดไฟท์

       เมื่อแยกเชื้อราเอ็นโดไฟท์จากพืชสมุนไพร ได้แก่ หญ้าหนวดแมว ตะไคร้ กะเพรา และฟ้าทะลายโจร ได้เชื้อราที่สามารถจัดกลุ่มเป็น 5 taxa ได้แก่ Nigrospora sp., Hyphomycetes, Coelomycetes, Drechslera sp. และ Mycelia Sterilia คัดเลือกเชื้อราเอ็นโดไฟท์ที่มีอัตราการเจริญเร็วที่สุดจำนวน 6 ไอโซเลท มาทำการทดสอบผลต่อความงอกของเมล็ดคะน้าพบว่า มีเพียงเชื้อราเอ็นโดไฟท์ Mycelia Sterilia1 ที่มีผลทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกเพิ่มขึ้น คือ 76.00 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติกับชุดควบคุมที่มีเปอร์เซ็นต์ความงอก 75.20 เปอร์เซ็นต์ และผลต่อการเจริญเติบโตของคะน้าในระยะต้นกล้า เมื่อวัดผลจากน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของต้นกล้าพบว่า ต้นกล้าที่ปลูกด้วยเชื้อราเอ็นโดไฟท์ Mycelia sterilia 1, 2, 3 และ Drechslera halodes มีน้ำหนักมากที่สุด แต่ทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม