คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
ศึกษาการผลิตสับปะรดบริโภคสดด้วยการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และวัสดุคลุมดิน - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: ศึกษาการผลิตสับปะรดบริโภคสดด้วยการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และวัสดุคลุมดิน (/showthread.php?tid=644)



ศึกษาการผลิตสับปะรดบริโภคสดด้วยการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และวัสดุคลุมดิน - doa - 12-04-2015

ศึกษาการผลิตสับปะรดบริโภคสดด้วยการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และวัสดุคลุมดิน
ชูศักดิ์ สัจจพงษ์, จินดารัตน์ ชื่นรุ่ง, รพีพร ศรีสถิตย์, บพิตร อุไรพงษ์ และเหรียญทอง พานสายตา
ศูนย์วิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, กลุ่มปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3

          การศึกษาการผลิตสับปะรดบริโภคสดด้วยการให้น้ำ การให้ปุ๋ย และวัสดุคลุมดิน ได้ทดลองที่ศูนย์วิจัยพัฒนาการเกษตรขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 โดยปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย มีการวางแผนการทดลองแบบ Spilt Plot มี 3 ซ้ำ โดย Main plot เป็นวิธีการให้น้ำ ได้แก่ ระบบน้ำหยด ระบบมินิสปริงเกอร์ และไม่ให้น้ำ ส่วน Sub plot เป็นวัสดุคลุมดิน ได้แก่ พลาสติกดำ ฟางข้าว กากตะกอนหม้อกรอง แกลบดิบ และไม่คลุมดิน ปริมาณน้ำที่ให้ในกรรมวิธีที่มีการให้น้ำ หาโดยวิธี Penman มีการให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-15 อัตรา 50 กรัม/ต้น/ฤดู ผลการทดลองด้านการเจริญเติบโตปรากฏว่า การใช้แกลบดิบเป็นวัสดุคลุมดินทำให้สับปะรดมีการเจริญเติบโตมากที่สุด แต่ก็ไม่แตกต่างจากการคลุมดินด้วยฟางข้าว กากตะกอนหม้อกรอง และไม่คลุมดิน ส่วนวิธีการให้น้ำไม่ทำให้สับปะรดมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันในทางสถิติ

         ด้านผลผลิตพบว่า การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดและระบบมินิสปริงเกอร์ทำให้สับปะรดให้จำนวนมากที่สุดเฉลี่ยเท่ากับ 30.5 และ 22.4 ผล/แปลง ตามลำดับ ส่วนวัสดุคลุมดินไม่ทำให้จำนวนผลสับปะรดแตกต่างกันในทางสถิติ สำหรับความชื้นในดินปรากฏว่าการให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดและระบบมินิสปริงเกอร์ทำให้ดินมีความชื้นสูงเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของสับปะรด