คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
สาเหตุการเกิดและการป้องกันแก้ไขอาการจุดดาวกระจายบนผลส้มโอ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: สาเหตุการเกิดและการป้องกันแก้ไขอาการจุดดาวกระจายบนผลส้มโอ (/showthread.php?tid=633)



สาเหตุการเกิดและการป้องกันแก้ไขอาการจุดดาวกระจายบนผลส้มโอ - doa - 12-03-2015

สาเหตุการเกิดและการป้องกันแก้ไขอาการจุดดาวกระจายบนผลส้มโอ
บุษบง มนัสมั่นคง, ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา, วิภาดา ปลอดครบุรี และศรุต สุทธิอารมณ์
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาสาเหตุการเกิดและการป้องกันแก้ไขอาการจุดดาวกระจายบนผลส้มโอ ดำเนินการสำรวจแปลงส้มโอในแหล่งปลูกส้มโอ จังหวัดพิจิตร ชัยนาท ปราจีนบุรี ตราด สมุทรสงคราม และนครปฐม ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 - กันยายน 2553 โดยทำการสำรวจการระบาดของอาการดาวกระจายในแต่ละพื้นที่ และในช่วงที่มีการติดผล ทำการตรวจนับศัตรูพืช และอาการดาวกระจายที่เกิดบนผลส้มโอจำนวน 20 ต้นๆ ละ 10 ผล ทุก 7 วัน ติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลือง บริเวณทรงพุ่มส้มโอเหนือพื้นดินประมาณ 1.50 เมตร จำนวน 10 กับดัก/แปลง เก็บทุก 14 วัน พบว่า ในแปลงจังหวัดนครปฐม จากการสำรวจบนผลพบเพลี้ยไฟ ไรขาว เพลี้ยหอย ไรเหลือง และไรแดง ส่วนการสำรวจบนกับดักกาวเหนียวสีเหลืองพบเพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น แมลงช้าง เพลี้ยกระโดด และแมลงวันผลไม้แต่พบว่า การระบาดของแมลงและไรไม่มีความสัมพันธ์กับการระบาดของอาการดาวกระจาย จากการสำรวจในแหล่งปลูกที่จังหวัดพิจิตรก็ไม่พบว่ามีเพลี้ยจักจั่น และไรเหลืองเข้าทำลายบนผล เมื่อทำการเก็บผลผลิตส้มโอเพื่อตรวจดูอาการดาวกระจาย พบอาการบนผลส้มโอเล็กน้อย แต่พบว่ามีอาการของผลที่ถูกทำลายโดยเพลี้ยไฟขณะที่ผลเล็ก เมื่อผลโตขึ้นมีลักษณะใกล้เคียงอาการดาวกระจาย และพบการทำลายของหนอนปลอกบนผิวผลส้มโอซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกันเท่านั้น และจากการสำรวจในแหล่งปลูกที่จังหวัดชัยนาท พบการทำลายของเพลี้ยแป้ง ไรเหลือง และไรแดงในช่วงผลขนาดใหญ่ แต่ไม่พบอาการดาวกระจายบนผลส้มโอเลย ในขณะที่การสำรวจในแปลงส้มโอจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชสม่ำเสมอ ไม่พบการระบาดของแมลงและไรแต่พบว่าเกิดการระบาดของอาการดาวกระจายเกิดขึ้นมากในช่วงที่มีฝนตกหนัก จึงน่าจะสรุปได้ว่าการเกิดอาการดาวกระจายไม่ควรจะเกิดจากการทำลายของแมลงและไร และมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเกิดจากสรีรพืชและสภาพอากาศ ทำให้เมื่อส้มโอเกิดแผลจากการที่ต่อมน้ำมันแตก และพบกับสภาพที่เหมาะสมคือ ความชื้นสูงเนื่องจากฝนตก ทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายซ้ำ เกิดเป็นอาการดาวกระจายขึ้น ดังนั้นในเบื้องต้น หากเกิดกรณีฝนตกหนักและต่อเนื่องในช่วงระยะผลประมาณ 5 เดือน ควรแนะนำให้เกษตรกรทำการพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราเพื่อควบคุมการระบาด หากสามารถพ่นได้ทันท่วงทีก็สามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับส้มโอได้