ศักยภาพของฝอยทองในการควบคุมขี้ไก่ย่าน - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2555 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=5) +--- เรื่อง: ศักยภาพของฝอยทองในการควบคุมขี้ไก่ย่าน (/showthread.php?tid=558) |
ศักยภาพของฝอยทองในการควบคุมขี้ไก่ย่าน - doa - 12-01-2015 ศักยภาพของฝอยทองในการควบคุมขี้ไก่ย่าน เสริมศิริ คงแสงดาว และกลอยใจ คงเจี้ยง กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 การใช้ฝอยทองควบคุมต้นขี้ไก่ย่าน ซึ่งเป็นวัชพืชเถาเลื้อยข้ามปี ดำเนินการที่เรือนทดลองของกลุ่มวิจัยวัชพืช ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2555 วางแผนการทดลองแบบ CRD ประกอบด้วย 2 การทดลองย่อย
การทดลองที่ 1 ทดลองใช้ฝอยทองควบคุมต้นขี้ไก่ย่าน มี 9 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ประกอบด้วยการใช้ต้นฝอยทอง 2 ชนิด เบียนต้นขี้ไก่ย่าน คือ ชนิดมีเมล็ด และชนิดไม่มีเมล็ด และใช้ชิ้นส่วนของกิ่งของพืชอาศัยที่มีฝอยทองติดอยู่ จำนวน 1, 2, 3 และ 4 กิ่ง เปรียบเทียบกับการไม่เบียน หลังการเบียนนาน 120 วัน เก็บเกี่ยวต้นฝอยทอง และต้นขี้ไก่ย่าน นำมาคัดแยกส่วนที่ตาย และส่วนที่ยังมีชีวิต พบว่า กรรมวิธีที่ใช้ฝอยทองชนิดมีเมล็ดเบียน ต้นขี้ไก่ย่านเหลือน้อยกว่าการใช้ฝอยทองชนิดไม่มีเมล็ดเบียน หลังจากที่ฝอยทองเบียนจนต้นขี้ไก่ย่านตายแล้ว ฝอยทองยังมีการแตกใหม่ จากส่วนของต้นขี้ไก่ย่านที่ยังมีชีวิต การเบียนเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง
การทดลองที่ 2 ทดลองใช้ฝอยทองควบคุมต้นขี้ไก่ย่านที่ขึ้นปกคลุมต้นลำไย มี 4 กรรมวิธี 8 ซ้ำ ดังนี้ 1) ใช้ฝอยทองชนิดไม่มีเมล็ดเบียนต้นขี้ไก่ย่านที่ขึ้นปกคลุมต้นลำไย 2) ใช้ฝอยทองชนิดมีเมล็ดเบียนต้นขี้ไก่ย่านที่ขึ้นปกคลุมต้นลำไย 3) ปล่อยต้นขี้ไก่ย่านขึ้นปกคลุมต้นลำไย 4) ต้นลำไยไม่ถูกขี้ไก่ย่านปกคลุม การทดลองมี 2 ชุด คือ 1) ต้นขี้ไก่ย่าน 4 ต้น/ลำไย 1 ต้น (สภาพที่มีต้นขี้ไก่ย่านหนาแน่น) 2) ต้นขี้ไก่ย่าน 2 ต้น/ลำไย 1 ต้น (สภาพที่มีต้นขี้ไก่ย่านหนาแน่น) แต่ละกรรมวิธีปล่อยฝอยทอง 2 ยอด/ต้นลำไย 1 ต้น จากการติดตามการเบียนของฝอยทองพบว่า ฝอยทองชนิดมีเมล็ดเจริญเติบโตปกคลุมต้นขี้ไก่ย่านเบียนเร็วกว่าฝอยทองชนิดไม่มีเมล็ด ในช่วง 3 เดือนหลังปล่อยฝอยทอง ฝอยทองเจริญเติบโตเต็มที่ เบียนต้นขึ้ไก่ย่านได้ 2 รอบ โดยไม่เป็นอัตรายต่อต้นและใบลำไย การเจริญเติบโตของต้นลำไยไม่แตกต่างกันระหว่างฝอยทอง 2 ชนิด แต่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับต้นลำไยที่ไม่ถูกเบียนซึ่งต้นโตลำไยที่สุด ส่วนต้นลำไยที่ถูกปกคลุมด้วยต้นขี้ไก่ย่านและไม่ได้ใช้ฝอยทองเบียนมีการเจริญเติบโตน้อยที่สุด การใช้ฝอยทองเบียนในสภาพที่มีต้นขี้ไก่ย่านไม่หนาแน่นพบว่า ต้นขี้ไก่ย่านตายทั่วถึงกว่า ดังนั้นในสภาพที่มีต้นขี้ไก่ย่านหนาแน่นจึงควรเพิ่มจำนวนฝอยทองที่ปล่อยให้มากขึ้นและกระจายให้ทั่วถึง
|