คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้แบบผสมผสานในชมพู่ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2555 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=5)
+--- เรื่อง: การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้แบบผสมผสานในชมพู่ (/showthread.php?tid=441)



การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้แบบผสมผสานในชมพู่ - doa - 11-24-2015

การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้แบบผสมผสานในชมพู่
สัญญาณี ศรีคชา, วิภาดา ปลอดครบุรี, เกรียงไกร จำเริญมา, ศรุต สุทธิอารมณ์, อัมพร วิโนทัย และพนมกร วีระวุฒิ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้แบบผสมผสานในชมพู่ มีการศึกษาในห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช รวมทั้งแหล่งปลูกชมพู่จังหวัดนครปฐมและราชบุรี ระหว่างตุลาคม 2550 ถึงกันยายน 2555 การวิจัยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1.การสำรวจชนิดแมลงวันผลไม้ในชมพู่ ชนิดชีววิทยาและนิเวศวิทยาของแมลงวันผลไม้ตัวหลักในชมพู่ 2.การศึกษาช่วงฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ในชมพู่ 3.ศึกษาเทคโนโลยีในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ 4.การเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตชมพู่ โดยแก้ไขปัญหาแมลงวันผลไม้ด้วยวิธีการป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน พบมีแมลงวันผลไม้ระบาดในชมพู่ 3-4 ชนิด แต่ตัวที่เป็นศัตรูหลัก คือ Bactrocera dorsalis ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 23.10±1.27 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพันธ์เฉลี่ย 91.07±1.25 เปอร์เซ็นต์ ระยะไข่, ระยะหนอน, ระยะดักแด้, ตัวเต็มวัยเพศเมีย และเพศผู้มีอายุเฉลี่ย 48.96±10.88 ชั่วโมง, 6.07±0.30, 9.21±0.41, 95.03±11.87 และ 97.50±9.31 วัน ตามลำดับ ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 597.29±62.38 ฟอง เปอร์เซ็นต์การฟัก 87% จากไข่รอดเป็นตัวเต็มวัย 38% โดยหนอนวัยที่ 1 มีอัตราการตายสูงสุด 31.03% สำหรับการศึกษาช่วงฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ในชมพู่ โดยใช้เมธิลยูจินอลเป็นสารล่อ พบปริมาณประชากรแมลงวันผลไม้ในแปลงสูงในระยะติดผลและจะสูงสุดในช่วงเก็บเกี่ยว การทำลายเริ่มเมื่อผลชมพู่อายุ 21 วัน การห่อผลจึงควรห่อเมื่อผลอายุ 14 วัน ในสภาพสวนพบศัตรูธรรมชาติที่สำคัญ 2 ชนิด คือ แตนเบียนหนอน Diachasmimorpha longicaudata และแตนเบียนไข่และหนอน Forpius arisanus ทำลายแมลงวันผลไม้ประมาณ 2-9% นอกจากนี้ศึกษาถึงความเหมาะสมของวัสดุห่อพบว่า การใช้ถุงผ้าสปันบอนด์หรือถุงพลาสติกหูหิ้วสีขาวตรารถตัก ห่อเมื่อผลอายุ 14 วัน จำนวน 2-3 ผล จะป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ได้และผลมีคุณภาพดี จึงได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผสมผสานกัน โดยใช้การดูแลรักษาแปลงปลูกให้สะอาดร่วมกับการตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และแขวนกับดักเมทธิลยูจินอล เพื่อติดตามการระบาด หากพบแมลงวันผลไม้ในกับดักมากขึ้น ใช้เหยื่อพิษโปรตีน พ่นในเวลาเย็น ทุก 7 วัน สามารถกำจัดตัวเต็มวัยทั้งเพศผู้และเพศเมียในแปลงปลูกได้ ที่สำคัญ คือ การห่อผล เมื่อผลอายุ 14 วัน ด้วยถุงผ้าสปันบอนด์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขนาด 8x16 นิ้ว เพื่อป้องกันการวางไข่ของแมลงวันผลไม้สุดท้ายนำเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในชมพู่ด้วยวิธีผสมผสาน เผยแพร่เกษตรกรในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้สามารถเปิดตลาดการค้ากับประเทศมาเลเชียได้อีกครั้ง