คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดูในเขตภาคเหนือ - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2555 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=5)
+--- เรื่อง: การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดูในเขตภาคเหนือ (/showthread.php?tid=348)



การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดูในเขตภาคเหนือ - doa - 11-19-2015

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดูในเขตภาคเหนือ
พิจิตร ศรีปินตา, อนันต์ ปัญญาเพิ่มล สุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง, จันทร์เพ็ญ แสนพรหม, สมพงษ์ คูตระกูล, พัชราภรณ์ ลีลา, ศิริพร หัสสรังสี และอุทัย นพคุณวงศ์
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1

          การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดูด้วยสารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3)ในพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินการที่สวนเกษตรกร จ.เชียงใหม่และ จ.ลำพูน ระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2553 เพื่อแก้ไขปัญหาการออกดอกติดผลน้อยในฤดูร้อน หรือการออกดอกไม่สม่ำเสมอในฤดูฝนหรือแตกใบอ่อนทำให้ไม่พร้อมสำหรับการใช้ KClO3 กระตุ้นให้ออกดอกนอกฤดู รวมทั้งแก้ปัญหาสีผิวผลไม่สวยเหมือนผลลำไยในฤดู นอกจากนี้ได้ศึกษาอัตราการใช้ KClO(3) 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นการออกดอกของลำไย ผลการทดลองพบว่า การบังคับต้นลำไยไม่ให้ออกดอกและติดผลในฤดูปกติที่ได้ผลดีที่สุด คือ การตัดปลายกิ่งยาว 10-15 นิ้ว ในเดือนพฤศจิกายน การบังคับต้นลำไยไม่ให้แตกใบอ่อนในช่วงฤดูฝนเพื่อเตรียมต้นให้พร้อมราด KClO(3) พบว่ามี 2 วิธีที่ได้ผลดีคือ 1) การควั่นกิ่งหลักกว้าง 0.2-0.3 เซนติเมตร จำนวน 2 วง ห่างกัน 10 เซนติเมตร หรือควั่นกิ่งแบบเกลียว (spiral cincturing) และ 2) การใส่ปุ๋ย 0-46-0 อัตรา 150 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร จำนวน 1 ครั้ง การกระตุ้นให้ต้นลำไยออกดอกติดผลในฤดูร้อนและฤดูฝนพบว่า การชักนำต้นลำไยออกดอกและติดผลในฤดูร้อนโดยการราด KClO(3) อัตรา 50 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ร่วมกับการพ่นแคลเซียมโบรอน จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 7 วันต่อครั้ง ในช่วงดอกบาน ทำให้มีเปอร์เซ็นต์การติดผล จำนวนผลเฉลี่ยต่อช่อ ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นมากที่สุด การชักนำต้นลำไยให้ออกดอกและติดผลในฤดูฝน ในสภาพฝนตกหนัก การให้ KClO(3) โดยวิธีการหว่านบริเวณทรงพุ่ม และการฝังกลบบริเวณชายพุ่มโดยใช้อัตรา 100 และ 150 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร จะมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกและผลผลิตต่อต้นมากที่สุด ส่วนในสภาพฝนตกน้อยถึงปานกลางพบว่า การให้ KClO(3) อัตรา 100-150 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร แบบผสมน้ำราดบริเวณทรงพุ่ม และการหว่านบริเวณทรงพุ่มมีเปอร์เซ็นต์การออกดอก เปอร์เซ็นต์การติดผลดีกว่าการฝังกลบบริเวณชายพุ่ม การปรับปรุงสีผิวลำไยนอกฤดูในสภาพที่ลุ่มและสภาพที่ดอน ในสภาพที่ลุ่มพบว่า การพ่นสาร Azoxystrobin (AMISTAR® 25 SC) อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรจำนวน 3 ครั้งในช่วงผลอายุ 4-5 เดือน และสาร Benzimidazole (Carbendazim) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 5 ครั้งในช่วงอายุผล 4-5 เดือน ช่วยให้สีผิวเหลืองขึ้นหรือค่า b* สูงกว่ากรรมวิธีอื่น ส่วนในสภาพที่ดอนพบว่า การพ่นสาร Benzimidazole (Carbendazim) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 5 ครั้งในช่วงอายุผล 4-5 เดือน ช่วยให้สีผิวผลเหลืองขึ้นหรือค่า b*สูงที่สุด การใช้ KClO(3) ที่มีสารออกฤทธิ์ 15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อชักนำให้ลำไยออกดอกติดผลนอกฤดูพบว่า ลำไยที่ราด KClO(3) สารออกฤทธิ์ 15 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 600 และ 900 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร มีเปอร์เซ็นต์การแทงช่อดอก ความยาวช่อดอก จำนวนผลเฉลี่ยต่อช่อ และขนาดผล ไม่แตกต่างกับการใช้ KClO(3) สารออกฤทธิ์ 90 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 100 กรัมต่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในสวนเกษตรกรที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยเปรียบเทียบวิธีการที่แนะนำด้านการชักนำการออกดอกและติดผลของลำไยในฤดูร้อนและฤดูฝน โดยหว่าน KClO(3) เป็นวงบริเวณรอบทรงพุ่ม ร่วมกับวิธีการพ่นสารแคลเซียม - โบรอนกับวิธีปฏิบัติของเกษตรกรพบว่า แปลงที่ใช้วิธีการแนะนำได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อและคุณภาพผลมากกว่าวิธีการเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำมีผลผลิตเฉลี่ย รายได้สุทธิ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าแปลงเกษตรกร และสามารลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตลงจึงถือว่าเทคโนโลยีนี้มีความคุ้มค่ากับการลงทุน