คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
พัฒนาและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2564 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=42)
+--- เรื่อง: พัฒนาและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช (/showthread.php?tid=2894)



พัฒนาและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช - doa - 10-28-2022

พัฒนาและตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
สุพิศสา ทองเขียว, เพชรรัตน์ ศิริวิ และสาธิดา โพธิ์น้อย
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร


          พัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์กรดอะมิโน Aspartic acid Glutamic acid Proline Phenylalanine และ Tryptophan ด้วยเทคนิค High Performance Liquid Chromatography โดยศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการแยกกรดอะมิโนความเข้มข้นของสารละลายบัฟเฟอร์ ระยะเวลาในการเตรียมอนุพันธ์ ความคงสภาพหลังการเตรียมอนุพันธ์ พบว่าสภาวะที่เหมาะสมในการแยกกรดอะมิโนใช้การปรับเฟสเคลื่อนที่แบบ Gradient ด้วย Acetonitrile และสารละลายบัฟเฟอร์ผสมระหว่าง Sodium acetate trihydrate ความเข้มข้น 100 มิลลิโมลาร์และ Triethylamine ความเข้มข้น 12 มิลลิโมลาร์ ระยะเวลาของการเตรียมอนุพันธ์ 10 นาที ภายหลังจากการเตรียมอนุพันธ์กรดอะมิโนมีความคงสภาพได้ถึง 4 วัน

          จากการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวิเคราะห์ กรดอะมิโนทั้ง 5 ชนิด ซึ่งจะตรวจสอบ Specificity Matrix effect LOD LOQ Range Linearity Trueness Precision และ Ruggedness พบว่าวิธีวิเคราะห์กรดอะมิโนนั้นมีความจำเพาะเจาะจงและไม่มีการรบกวนของสารอื่นสำหรับการวิเคราะห์กรดอะมิโนในสารสกัดจากสาหร่ายที่มีลักษณะใสและชนิดผง การวิเคราะห์กรดอะมิโน Aspartic acid Glutamic acid Proline Phenylalanine และ Tryptophan มีค่า LOD เท่ากับ 0.78 0.68 0.69 0.05 และ 4.76 ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับ และมีค่า LOQ อยู่ในช่วง 0.5 - 50 ไมโครกรัมต่อลิตร การพิสูจน์ความถูกต้องและความเที่ยงที่ระดับ LOQ พบว่าทุกค่าผ่านเกณฑ์ยอมรับ จากผลการตรวจสอบ Range และ Linearity พบว่ามี Linearity ของเครื่องมือวิเคราะห์อยู่ในช่วง 5-100 5-100 5-100 0.5-10 และ 50-1000 ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับ และประเมิน Range ในช่วง 5-60 5-60 5-60 0.5-6 และ 50-600 ไมโครกรัม ต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งผ่านเกณฑ์ยอมรับ Correlation coefficient ( r ) > 0.995 การประเมินค่า Trueness จาก %Recovery และ Precision แบบ within laboratory precision จากค่า HorRat พบว่าการวิเคราะห์กรดอะมิโนที่ความเข้มข้นต่ำ กลางและสูง มี %Recovery อยู่ในช่วง 94.3 - 103.2, 96.4 - 102.8 และ 95.9 - 103.5 ตามลำดับ มีค่า HorRat อยู่ในช่วง 0.31 - 0.61, 0.51 - 0.93 และ 0.30 - 0.65 ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดมี %Recovery อยู่ในช่วงเกณฑ์การยอมรับและค่า 80 - 110 และมีค่า HorRat ไม่เกิน 1.3 ตามเกณฑ์กำหนดของ AOAC (2016) การตรวจสอบ Ruggedness โดยมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะที่มีผลต่อการทดสอบและเปรียบเทียบความเข้มข้นของกรดอะมิโนด้วยวิธีทางสถิติ t-test พบว่าทุกค่า มีค่า t stat น้อยกว่า t critical

          จากผลการทดสอบดังกล่าวข้างต้นพบว่าคุณลักษณะเฉพาะของวิธีเป็นไปตามเกณฑ์การยอมรับและวิธีที่พัฒนานี้มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์หาความเข้มข้นของกรดอะมิโน Aspartic acid Glutamic acid Proline อยู่ในช่วง 0.005 - 500 มิลลิกรัมต่อลิตร Phenylalanine อยู่ในช่วง 0.0005 - 100 มิลลิกรัมต่อลิตร และ Tryptophan อยู่ในช่วง 0.05 - 1000 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยให้ค่าที่มีความถูกต้องและแม่นยำจึงสามารถนำมาใช้เป็นวิธีมาตรฐานสำหรับการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์กรดอะมิโนในห้องปฏิบัติการได้

คำหลัก: กรดอะมิโน การเจริญเติบโตของพืช การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี